William Joseph Eggleston เกิดที่ Memphis, Tennessee เมื่อปี 1939 หลังจากที่เขาเกิดได้ไม่ได้นาน พ่อของเขาต้องไปรับใช้ชาติในสงครามโลกครั้งที่ 2 Eggleston กับแม่จึงต้องย้ายไปอาศัยอยู่กับครอบครัวฝั่งแม่ที่เป็นเจ้าของฟาร์มขนาด 5,000 เอเคอร์ อย่างที่ Eggleston เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ด้วยระบบค่าเช่าที่ดินในสมัยนั้น ทำให้ครอบครัวของเขาจัดว่ามีอันจะกินพอสมควร และครอบครัวของเขาได้ให้ความสนใจในศิลปะอย่างมาก เห็นได้จาก ของสองอย่างแรกในชีวิตที่ได้รับจากแม่คือ หนังสือภาพศิลปะของ Rouault และ de Chirico รวมถึงคุณตาที่เป็นช่างภาพสมัครเล่นแบบจริงจัง (จริงจังขนาดที่มีห้องมืดส่วนตัวที่สร้างอยู่ในบ้าน) ได้ให้กล้องถ่ายภาพตัวแรกกับ Eggleston เมื่อเขาอายุได้ 10 ขวบ ถึงกระนั้น Eggleston ก็ยังไม่ได้สนใจการถ่ายภาพสักเท่าไหร่ ช่วงวัยรุ่นมีสามอย่างที่ Eggleston ให้ความสนใจ เครื่องเสียงราคาแพง การวาดภาพ และรถ baby-blue Cadillac
เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Vanderbilt ที่นี่เป็นที่ๆเพื่อนของเขาชักนำให้ซื้อกล้อง 35 mm และเริ่มรู้จักการถ่ายภาพ แต่ถึงอย่างไรก็เป็นความสนใจที่ผิวเผิน ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่ในวันหนึ่ง Eggleston ไปพบหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล หนังสือนั้นมีชื่อว่า The Decisive Moment โดย Henri Cartier-Bresson (HCB) เขารู้สึกประทับใจอย่างมากกับภาพในหนังสือ ซึ่งภาพของ HCB แสดงออกได้ถึง การหยั่งรู้บางประการของช่างภาพ การไม่ได้คิดล่วงหน้า หรือวางแผนอย่างปราณีต แต่เกิดจากการใช้สัญชาติญาณอันฉับพลันก่อนที่จะกดชัตเตอร์ ซึ่งต่างจากช่างภาพชื่อดังในสมัยนั้นที่นิยมใช้กล้อง Large Format อย่าง Edward Weston หรือ Ansel Adams ที่มีกระบวนการถ่ายภาพอันเชื่องช้า มีขั้นตอนจำนวนมากทั้งก่อนถ่าย ขณะลงมือถ่าย หรือแม้แต่กระบวนการในห้องมืด การถ่ายภาพของ HCB ไม่ใช่เพียงการจับจังหวะหนึ่งๆเหมือน Snapshot ทั่วไป แต่เกิดจากการหยั่งรู้ที่จะไปอยู่ "ถูกที่" และ "ถูกเวลา" และรู้ได้ว่าจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเสี้ยววินาทีนั้นได้อย่างไร "ผมไม่รู้จะทำไรได้ดีไปกว่าการถ่ายภาพให้เหมือนกับ HCB ให้มากที่สุด" แต่ถึงจะเลียนแบบ HCB ได้เหมือนมากแค่ไหน Eggleston ก็รู้ว่ามันยังไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เหตุผลประการแรก มีบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างระหว่างคนยุโรปอย่าง HCB กับอเมริกัน ที่เขาไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ Eggleston เคยไปปารีส แต่เขารู้สึกไม่อยากจะถ่ายภาพอะไรที่นั่้นเลย อย่างที่สอง เขาให้ความสนใจอย่างมากกับการศิลปะแนวนามธรรม (Abstract Art) และ Graphic Design ซึ่งหมายความว่าเขาชอบการใช้สี ต่างกับ HCB ที่ถ่ายภาพขาวดำ
ในสมัยนั้นทัศนคติของการถ่ายภาพศิลปะ (Fine Art Photography) ที่มีต่อภาพสีไม่ค่อยดีนัก แม้จะมีการใช้สีในภาพยนต์มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1930 ใช้ในโทรทัศน์ มาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 หรือฟิล์มสีก็มีจำหน่ายและใช้อย่างแพร่หลายแล้ว แต่ในวงการภาพถ่ายศิลปะก็ยังดูถูกเหยียดหยามภาพสีอยู่ หลายคนให้ความเห็นว่า "สีรบกวนความบริสุทธิ์ที่มีต่อรูปทรง" "สีทำให้องค์ประกอบภาพดูยุ่งยากซับซ้อน" "สีเป็นเรื่องของการค้า" แม้แต่ Robert Frank ช่างภาพสมัยใหม่ที่สร้าง "The Americans" ก็ยังบอกว่า
"ขาวดำ คือสีของภาพถ่าย" หรือ Walker Evans ก็ยังบอกว่า
"มีสี่คำที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ต้องพูดเบาๆนะ ... ภาพ สี หยาบ คาย" Eggleston เป็นผู้ชายชาวใต้ ไม่กลัวว่าใครจะตราหน้าว่าเป็นคนหยาบคาย เค้าตั้งเป้าหมายว่า เขาจะถ่ายภาพในระแวกบ้านเขาด้วยสายตาของคนที่ไม่เคยอยู่ที่นี่มาก่อน และถ่ายด้วยภาพสี
"สิ่งใหม่ในสมัยนั้นคือ ซุปเปอร์มาเก็ต และผมก็เข้าไปถ่ายที่นั่น" ภาพแรกที่เขาถ่ายคือภาพของพนักงานที่กำลังเข็นรถเข็นใส่ของ
"ผมมีวิธีถ่ายแบบใหม่ในหัว ด้วยการ Overexposing กับฟิล์ม ผมหวังว่าจะเก็บสีทั้งหมดออกมาได้ ... พระเจ้า! มันดันเวิร์คซะด้วย"
Eggleston ไม่ได้เป็นช่างภาพคนแรกที่ทดลองสร้างงานภาพถ่ายศิลปะด้วยภาพสี มีช่างภาพศิลปะอีกหลายคนที่ทำในสิ่งเดียวกันโดยเฉพาะที่นิวยอร์ค และไม่เหมือน Lee Friedlander และ Garry Winogrand ที่ออกไปเดินถ่ายภาพชีวิตประจำวันในที่สาธารณะริมท้องถนนในกรุงนิวยอร์ค หรือที่เรียกว่า Street Photography แต่ Eggleston ถ่ายภาพทุกๆอย่าง แต่ด้วยสายตาของคนที่เหมือนเพิ่งได้พบเจอสิ่งเหล่านั้นเป็นครั้งแรกในชีวิต วิธีนี้ทำให้เหมือนกับว่า สิ่งเหล่านั้นถูกไตร่ตรอง และจัดวางมาอย่างสวยงามเพื่อทำเป็นงานศิลปะโดยเฉพาะ ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าสิ่งใด "คน" หรือ "สิ่งของ" มีค่าของความงามในปริมาณที่เท่ากัน ด้วยแนวคิดนี้เป็นที่มาของคำว่า The Democratic Camera และการใช้สีในภาพถ่ายของเขาทวีความจัดจ้านมากขึ้นเมื่อเขาค้นพบกระบวนการย้อมสีในภาพถ่าย เทคนิคการพิมพ์ภาพที่ราคาแพง ทำให้ Eggleston ควบคุมสีที่เข้มข้นของแต่ละเฉดสีได้ ผลลัพท์เมื่อพิมพ์ออกมาคือ ภาพที่มีสีสันฉูดฉาดอย่างยิ่ง
แม้ว่างานของเขาเริ่มได้รับการพูดถึง และได้แสดงนิทรรศการบางครั้งบางคราว แต่นั่นก็ยังไม่ใช่การยอมรับที่แท้จริง จนกระทั่งปี 1976 เมื่อ Eggleston อายุกลางๆ 30 ช่วงเวลานี้จึงจะเป็นช่วงเวลาที่ชื่อของเขามีอธิพลต่อวงการศิลปะโลก ในปีนั้น the Museum of Modern Art (MoMA) พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ที่กรุงนิวยอร์คได้จัดแสดงผลงานของเขาถึง 48 ชิ้น และที่สำคัญเป็นภาพถ่ายสี แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ MoMA จัดแสดงภาพถ่ายสี (แม้ว่า Eggleston มักจะบอกว่าเขาเป็นคนแรก) แต่ผลงานของเขาก็ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางทั้งจากนักวิจารณ์และคนที่รักในงานศิลปะการถ่ายภาพ John Szarkowski ผู้คัดเลือกงานศิลปะของ MoMA กล่าวว่างานของเขา สมบูรณ์แบบในเรื่องกระบวนทัศน์ในการนำเสนอเรื่องส่วนตัว มีความชัดเจน เต็มเปี่ยม และสง่างาม The New York Times art critic กล่าวสั้นๆว่า สุดยอดของความธรรมดา...สุดยอดของความน่าเบื่อ นักวิจารณ์คนอื่นๆใส่ไม่ยั้ง "นิทรรศการที่ได้รับการเกลียดชังมากที่สุดของปี" มีทั้งคนชอบและคนเกลียดแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีใครสามารถวางเฉยกับงานของเขาได้ นักวิจารณ์หลายคนอาจคิดว่าสิ่งต่างๆในภาพถ่ายของเขาอาจถูกลืมในที่สุด แต่พวกเขาไม่มีทางลืมพลังที่อัดกระแทกออกมาจากภาพถ่ายของ William Eggleston
Eggleston เป็นพลังผลักดันสำคัญในวงการภาพถ่ายศิลปะมานานกว่า 30 ปี งานของเขายังก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมาย คนดูภาพมักพูดว่า ลูกๆอายุ 5 ขวบของพวกเขาก็สามารถถ่ายภาพอย่าง Eggleston ได้ ก็มีความจริงอยู่บ้าง แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น มีลักษณะที่ขาดความสามารถทางศิลปะของเด็ก 5 ขวบแฝงตัวอยู่ในงานของเขา แต่มันเกิดจาก "การคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ" แล้วที่จะให้งานออกมาแบบนี้ Eggleston มีความเข้าใจและรู้ตัวดีว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ และตระหนักรู้ได้ว่า ผู้คนต่างๆ รวมถึงช่างภาพชื่อดังคนอื่นๆไม่เข้าใจสิ่งที่เขากำลังทำ คนส่วนใหญ่ชอบดูภาพที่มีความชัดเจน ตรงไปตรงมา และถูกคิดมาให้อยู่แล้ว
".....ผมทำสงครามกับความชัดเจนมาตลอดชีวิต" ความโรแมนติคของคนทั่วไปอาจเป็นภาพของ พระอาทิตย์ตกดิน คนเล่นสกีลงมาจากภูเขาหิมะ ภาพทะเลสาบที่มีแสงอ่อนๆฉาบไปทั่วทั้งภาพ แต่ความโรแมนติคของ Eggleston ไม่ใช่อย่างนั้น เขามองภาพของจักรยานสามล้อเก่าๆของเป็นความโรแมนติคอย่างหนึ่ง มุมมองที่เกิดจากความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา สิ่งทั้งหลายที่ประกอบในภาพ ฉากหลัง รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ทำให้คนดูภาพาสามารถมองย้อนเข้าไปในอดีตของตัวเขาเอง และตีความออกไปตามแต่ละบุคคล
Democratic Camera ของ Eggleston โต้แย้งความเข้าใจที่เรามีต่อภาพความโรแมนติครวมทั้งความงามทางศิลปะที่เราเคยรับรู้ การเปิดเผยเกี่ยวกับความงามของการดำรงอยู่ของความธรรมดา บางครั้งอาจทำให้เราสับสนได้และอาจต้องมานั่งทบทวนความเข้าใจของเราใหม่ Eudora Welty นักเขียนชื่อดังชาวใต้เคยเขียนถึง The Democratic Forest หนังสือภาพถ่ายของ Eggleston ไว้ว่า
"เมื่อคุณได้เห็นภาพของโลกที่แสนจะเปิดกว้าง ที่เต็มไปด้วยสิ่งต่างๆมากมายในหนังสือของเขา คุณจะรู้ว่า ยังมีอีกหลายสิ่งอย่างนักที่เรายังไม่ได้พูดถึง..." และนั้นทำไม Eggleston ถึงกล่าวไว้ว่า
"ทุกสิ่งทุกอย่างมีค่าพอที่จะถ่ายภาพ" และเด็ก 5 ขวบไม่มีทางทำได้อย่างนี้
By
Akkara Naktamna