นิทรรศการ
New Documents ที่มี John Szarkowski เป็น Curator จัดว่าเป็นนิทรรศการที่ประกาศก้องให้โลกได้รู้ว่า
"Street Photography คืองานศิลปะแขนงหนึ่ง" เพราะถึงขึ้นจัดที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ หรือที่เรียกกันติดปากว่า MoMA และงานของช่างภาพทั้งสามคนจัดว่าเป็น Street Photography ชนิดปฏิเสธกันได้ยาก แม้ชื่องานจะเรียกว่า Documents ที่หลายคนอาจคิดว่าเป็น ภาพถ่ายสารคดี แต่ถ้าดมกลิ่นกันแล้ว มันคือ Street Photography อย่างไม่ต้องสงสัย (อันที่จริง Street Photography ก็คือสารคดีในรูปแบบหนึ่งที่โฟกัสไปที่ชีวิตริมท้องถนน แต่มีเอกลักษณ์ที่โดดออกมาจากภาพถ่ายสารคดี)
ผู้เขียนเคยเอาประวัติของช่างภาพแต่ละคนมาเขียนแล้ว ได้แก่ Diane Arbus และ Garry Winogrand ขาดอยู่เพียงคนเดียวคือ Lee Friedlander ที่ยังไม่ได้เอามาเขียน ไม่รู้เป็นเพราะปู่เขายังไม่ตายหรืออย่างไรไม่ทราบ เลยมานั่งคิดว่าถ้าไม่ได้เขียนถึงถ้าปู่แกรู้เข้าอาจจะน้อยใจ (ผิดหรือที่ยังหายใจอยู่) เลยฉลองศรัทธาเขียนลงให้ครบสามทหารเสือแห่งวงการสตรีทสมัยใหม่กันเสียที
Lee Friedlander เกิดที่ Aberdeen, Washington เมื่อปี ค.ศ. 1934 (พศ 2477) เข้าเรียนช่วงสั้นๆที่ The Art Center School, Los Angeles ปี 1955 ย้ายสำมะโนครัวไปที่ New York (อืม ใครๆก็ไปที่นี่กันสินะ) และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มาตลอด Friedlander เริ่มทำงานเป็นช่างภาพ Freelance ให้กับแมกกาซีนหลายๆหัว อาทิ Sports Illustrated, Holiday, และ Seventeen งานอีกสายหนึ่งที่ทำคือ ถ่ายภาพ Portrait ให้กับนักดนตรีเพลงแจสเพื่อเอาไปทำเป็นปกอัลบัม งานนี้ทำให้ Friedlander เป็นคนที่หลงรักเพลงแจส และดนตรีแขนงอื่นๆตลอดทั้งชีวิตของเขา
ช่วงทศวรรษ 1960 เป็นช่วงที่งานภาพถ่ายส่วนตัวของ Friedlander แข็งแรงขึ้นในสายงานศิลปะ ดังเช่น งานที่เขามักเรียกว่า “The American Social Landscape” นำเสนอภาพถ่ายในสถานที่ต่างๆ ตู้โชว์ของร้านรวงข้างถนน ป้ายโฆษณา จอทีวี รถยนต์ สิ่งเหล่านี้ถูกหุ้มห่อด้วยความเป็นเมือง และสังคมบริโภคนิยม
งานของ Friedlander เต็มไปด้วยการ "เล่น" ล่อลวงตาให้ผู้ชมไขว้เขวไปกับลูกล่อลูกชนต่างๆ จับเอาความผิดพลาดในการถ่ายภาพสมัยเก่ามาสร้างสรรค์เป็นการถ่ายภาพรูปแบบใหม่ ตัวอย่างเช่น การสะท้อนกระจกทำให้เกิดความสับสนระหว่างข้างนอกกับข้างใน การถ่ายเงาดำทึบของตัวเอง (Self Portrait) การใช้ขอบเฟรมตัดบางส่วนในภาพออก สิ่งที่ Friedlander ถ่ายทอดออกมา นับเป็นการนำเสนอที่แหวกแนวอย่างมากในขณะนั้น จนทำให้เขาได้รับทุนจาก The Guggenheim Memorial Foundation ถึง 3 ครั้ง (ปี 1960, 1962 และ 1977) ในปี 1967 นิทรรศการ New Documents ก็ถือกำเนิดขึ้น งานของ Friedlander 30 ภาพ เข้าร่วมแสดงพร้อมกับช่างภาพอีกสองคนคือ Diane Arbus และ Garry Winogrand ในฐานะช่างภาพหน้าใหม่ไร้ชื่อเสียงแต่ไฟแรงที่สุดในขณะนั้น
Eugene Atget ถือเป็นช่างภาพที่มีอธิพลสำคัญต่อ Friedlander ทำให้เกิดงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในยุค 70 คือ The American Monument หนังสือรวมภาพถ่ายที่บรรจุเอาภาพของอนุสาวรีย์ในที่ต่างๆเอาไว้ มีตั้งแต่อนุสาวรีย์ที่สวยงามไปจนถึงอนุสาวรีย์ที่สุดแสนจะพิกลจนน่าหัวเราะ พร้อมกันนั้นแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ต่างไปจากสิ่งที่ Atget นำทางไว้ที่ปารีสเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว Friedlander ได้จัดนิทรรศการหลายต่อหลายครั้ง การจัดแต่ละครั้งสไตล์การนำเสนอก็จะแปรเปลี่ยนไปตามความสนใจ และการทำงานในแต่ละช่วงชีวิต อาทิ Flowers and Trees, Japan at cherry-blossom time, Nudes, และงานที่ได้รับ Assignment ต่างๆ
เมื่ออายุมากขึ้นทำให้ Friedlander มีอาการป่วยด้วยโรคไขข้ออักเสบทำให้เขาต้องอยู่แต่ในบ้าน และเนื่องจากไม่ได้ออกไปไหนจึงต้องสร้างงานจากสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตัว งานชิ้นนั้นมีชื่อว่า Stems (กิ่งก้าน) สะท้อนช่วงชีวิตของเขาที่ต้องทำการผ่าตัดหัวเข่า Friedlander บอกว่าแขนขาของเขาช่วงนั้นทำให้นึกถึงภาพของกิ่งก้านของพืช ซึ่งงาน Conceptual ชิ้นนี้มีสไตล์แตกต่างจากงานชิ้นก่อนๆโดยสิ้นเชิง
ในปี 2005 MoMA ได้จัดนิทรรศการเดี่ยวของ Friedlander โดยรวบรวมผลงานเกือบ 400 ชิ้นตั้งแต่ปี 1950 ถึงปัจจุบัน รวมถึงได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ Hasselblad International Award ในปีเดียวกัน ปัจจุบัน Lee Friedlander อายุ 80 ปี (2014) ใช้ชีวิตอยู่ที่ New York และยังสร้างงานภาพถ่ายออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนังสือภาพเล่มล่าสุดของเขาออกมาปี 2013 ชื่อว่า Family in The Picture เป็นการรวบรวมภาพถ่ายครอบครัวของเขากว่า 350 ภาพ ตั้งแต่ปี 1958 - 2013 สิ่งที่น่าสนใจคือ เราจะได้เห็นว่าช่างภาพสตรีทระดับตำนานนั้นถ่ายภาพครอบครัวด้วยมุมมองที่ต่างไปจากเราอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นมันบ่งบอกได้ว่าการถ่ายภาพได้แทรกซึมเข้าไปทุกๆส่วนในชีวิตของ Lee Friedlander และคนรอบตัวของเขาอย่างไร้ที่ติ และแม้เขาไม่ได้เปิด Workshop สอนเราตรงๆ แต่การทำงานของเขาบอกเรากลายๆว่า เขาจะไม่หยุดถ่ายภาพเพียงเพราะข้ออ้างเรื่องอายุที่เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง เรื่องสุขภาพที่ย่ำแย่ หรือเพราะได้ผ่านจุดสูงสุดของชีวิตช่างภาพไปแล้ว
Lee Friedlander จะยังคงสร้างงานภาพถ่ายที่เขารักต่อไปโดยไม่มีข้อแม้