บทความชิ้นนี้จะมาแนะนำให้รู้จักช่างภาพสตรีทคนสำคัญที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการถ่ายภาพ Street Photography ในยุคปัจจุบันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอังกฤษ ซึ่งตอนนี้จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของวงการถ่ายภาพ Street Photography ไม่แพ้ในนิวยอร์ค หรือปารีส
Tony Ray-Jones (โทนี่ เรย์ โจนส์) เกิดที่เวลส์เมื่อ 1941 เข้าศึกษาสาขา Graphic Design ที่ London School of Printing เมื่อปี 1960 และได้ทุนเพื่อศึกษาต่อในด้านการถ่ายภาพที่่ Yale University School of Art ในอเมริกา แม้จะอายุเพียง 19 ปี แต่ด้วยความโดดเด่นด้านการถ่ายภาพทำให้เขาได้รับว่าจ้างจากนิตยสาร Car and Driver และ Saturday Evening Post และด้วยความกระตือรือร้นที่อยากจะใช้ศิลปะการถ่ายภาพมาใช้สร้างสรรค์งานอื่นๆ Ray-Jones จึงไปเรียนและฝึกงานที่ Design Lab ใน New York ที่มีผู้ควบคุมโดย Alexey Brodovitch ช่างภาพชาวรัสเซีย และอาร์ตไดเรคเตอร์ ที่มีอารมณ์ร้ายและต้องการความสมบูรณ์แบบจากเขาเสมอๆ ที่นั่นเอง Ray-Jones ได้รู้จักกับสองช่างภาพสตรีทคนสำคัญนั่นคือ Joel Meyerowitz กับ Garry Winogrand และสองคนนี้นี่เองจะเป็นต้นแบบในงานสตรีทของเขาต่อไปข้างหน้า
Ray-Jones ขายกล้อง Rolleicord ของเขาไปแล้วซื้อกล้องที่เบากว่าอย่าง Leica 35mm มาใช้แทน แล้วใช้เวลาในวันเสาร์ที่มักจะมีงานพาเหรดมาเป็นสถานที่ฝึกถ่ายภาพร่วมกับช่างภาพคนอื่น Joel Meyerowitz พูดถึงตอนนั้นว่า "พวกเราใช้งานพาเหรดเหล่านี้ เป็นเสมือนห้องทดลอง พวกเราเรียนรู้เรื่องการพรางตัวในฝูงคน เรียนรู้เรื่องลักษณะต่างๆของภาพสตรีท รวมถึงการเฝ้ารอและสังเกตุการณ์" และนี่เองทำให้ Ray- Jones ซึมซับศิลปะการถ่ายภาพสตรีทอย่างเต็มที่และเปลี่ยนแปลงเขาไปอย่างช้าๆ
ปี 1964 Ray-Jones จบการศึกษา และรับงานฟรีแลนซ์ถ่ายภาพให้กับนิตยสารต่างๆ ในเวลาว่างเขาก็จะพก Leica ออกไปถ่ายภาพสตรีทกับเพื่อนๆ จนกระทั่งวีซ่าหมดอายุ และต้องเดินทางกลับอังกฤษในปี 1965 ตอนที่เขามาถึงแรกๆนั้นเขารู้สึกงงอย่างมากที่ๆอังกฤษมีแต่การถ่ายภาพที่เป็นเพื่อการพาณิชย์เท่านั้น แตกต่างจากที่อเมริกาที่ศิลปะการถ่ายภาพต่างๆโดยเฉพาะ Street Photography กำลังเฟื่องฟู แต่ที่อังกฤษไม่ใช่อย่างนั้น ไม่มีช่างภาพคนไหนที่การถ่ายภาพสตรีทสไตล์อเมริกัน (เผชิญหน้า) เหมือนอย่างที่เขากับเพื่อนทำที่ New York (Ray-Jones คิดเอง) นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ได้ให้เครดิต หรือยกย่องช่างภาพอื่นๆในอังกฤษมากนักเนื่องจากที่นี่ขาดประสบการณ์สตรีทของ New York และนั่นทำให้เขามีความอหังการและหยิ่งยโสในฝีมือของตนเองพอสมควร เขามักพูดถึงช่างภาพคนอื่นๆในแง่ไม่ดีนัก ยกเว้นอยู่ไม่กี่คนที่ Ray-Jones ยกย่อง หนึ่งในนั้นคือ Henri Cartier-Bresson (HCB)
ครั้งหนึ่ง Peter Turner ได้ส่งนิตยสารหัวใหม่ชื่อ Creative Camera ลงสู่ท้องตลาด Ray-Jones เห็นเข้าก็ไปเสนอตัวทำงานโดยใช้คำพูดง่ายๆที่ว่า "หนังสือคุณมันห่วย! ผมรู้ว่าคุณพยายามแล้ว...แต่ความรู้พวกคุณยังมีไม่พอ เอางี้ ผมมาที่นี่เพื่อช่วยคุณ" แทนที่จะโดนโยนออกไปจากสนพ. Peter Turner ขอดูงานของเขา และตัดสินใจจ้าง Ray-Jones เป็นที่ปรึกษาของนิตยสาร
เหมือนกับทุกคนที่ถ่ายภาพ Ray-Jones ก็มุขตันเหมือนกัน :p เพราะเขาเองก็ยังไม่รู้ว่าจะถ่ายอะไรที่อังกฤษ ที่นี่ต่างจาก New York ที่ตามท้องถนนมีเรื่องแปลกมากมายและผู้คนไม่กลัวการถ่ายภาพแบบเผชิญหน้าจนเกินไป ที่นี่เป็นสังคมที่แตกต่างออกไปเขาจึงต้องทำในแบบที่ตัวเองเป็น ระหว่างนั้นเองเขาก็ทำงานที่ Radio Times และหนังสือพิมพ์ Sunny ไปด้วย Ray-Jones ได้เริ่มลงมือถ่ายภาพการใช้ชีวิตในแบบของคนอังกฤษ ในหัวข้อ "before it became too Americanised" (ก่อนที่จะกลายเป็นอเมริกันไปมากกว่านี้) งานของเขามีลักษณะของ "Surreal Humour" (ตลกขบขันแบบเหนือจริง) และได้รับอธิพลมาจากช่างภาพสตรีทอย่าง Henri Cartier-Bresson, Garry Winogrand, Homer Sykes
ในการถ่ายภาพสตรีทในที่ต่างๆของอังกฤษ เขาได้บันทึกขั้นตอนการทำงานเอาไว้ในสมุดเล่มเล็กๆของเขา ข้อความเหล่านี้ถือเป็นมรดกชิ้นสำคัญของเขาให้แก่ช่างภาพรุ่นหลัง อาจจัดว่าเป็นตำราเบื้องต้นของช่างภาพสตรีทเลยก็ว่าได้
- คุกคามให้มากขึ้น
- พูดคุยกับผู้คน (ที่ถูกถ่าย) ให้มากขึ้น
- มีความอดทน รอคอย
- ถ่ายให้ง่ายเข้าไว้
- ดูสิ่งต่างๆที่ฉากหลัง ที่อาจจะสัมพันธ์กับสิ่งที่กำลังจะถ่าย
- จัดองค์ประกอบให้หลากหลาย หักมุม (แบบคาดไม่ถึง)
- รับรู้ถึงองค์ประกอบที่กำลังเปลี่ยนไปให้มากขึ้น
- อย่าถ่ายรูปที่น่าเบื่อ
- เข้าใกล้ให้มากขึ้น (ใช้เลนส์ 50 หรือน้อยกว่า)
- ระวังภาพสั่น (ถ่ายที่ 1/250 หรือมากกว่า)
- อย่าถ่ายเยอะ
- อย่าถ่ายแต่ระดับสายตา (ลองวางกล้องกับพื้น หรือชูเหนือหัวดูบ้าง)
- อย่าถ่ายระยะห่างแบบปานกลาง (ใกล้หรือไกลไปเลย)
ปี 1971 เขากระตือรือร้นที่จะได้กลับไปที่ New York อีกครั้ง ครั้งนี้เขาไปสอนถ่ายภาพที่ San Francisco Art Institute แต่เขาพบว่าเขาไม่ชอบงานสอนเอาซะเลย เพราะนักเรียนของเขาขี้เกียจ เอาแต่ใจ เห็นแก่ตัว และเขาก็หมดไฟซะแล้ว ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ปี 1972 เขาพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคลูคีเมีย เขาและภรรยาย้ายกลับอังกฤษ และเสียชีวิตลงในเดือนต่อมา รวมอายุได้ 31 ปีเท่านั้น และหากเขามีอายุมากกว่านี้ เราอาจจะได้เห็น Henri Cartier-Bresson จากฝั่งอังกฤษก็เป็นได้
เหมือนกับช่างภาพที่เสียชีวิตลงหลายๆคนที่ จะได้รับการยกย่องเมื่อเสียชีวิตลง Tony Ray Jones ก็เป็นหนึ่งในนั้น ผลงานของเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำ Street Photography มาสู่ประเทศอังกฤษ (ทั้งที่ตอนมีชีวิตมีงานนิทรรศการของเขาน้อยครั้งมาก) และได้พิมพ์หนังสือภาพถ่ายของเขาเอง (A Day Off: 1974) น่าเสียดายที่เขาไม่ได้มีโอกาสได้เห็น งานของเขาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้แก่ช่างภาพอังกฤษหลายคน เช่น Matt Stuart, Martin Parr และช่างภาพสตรีทคนไทยอย่างตัวผู้เขียนเอง :D
by
Akkara Naktamna