Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
Noppadol Weerakitti's Interview
Posted by Street Photo Thailand - Dec 28, 2016 00:36
ตั้งแต่ทำ SPTEP (e-magazine) จะค่อนข้างเน้นสัมภาษณ์ช่างภาพสตรีทรุ่นใหม่ ที่ตอนนี้โกอินเตอร์กันไปหลายต่อหลายคนแล้ว ที่จริงคนที่ถ่ายภาพสตรีทรุ่นแรกๆมีหลายคนมากที่ไม่เคยได้สัมภาษณ์เลย (ไม่รู้จะน้อยใจบ้างหรือเปล่า) เลยคิดว่าตั้งแต่ปลายปีนี้ ไปจนถึงปีหน้าจะเริ่มลงบทสัมภาษณ์ของคนถ่ายภาพสตรีทตั้งแต่ยุคก่อตั้ง Street Photo Thailand มาให้อ่านกันนะครับ เริ่มแรกด้วยคนที่ก่อตั้ง Community ที่ชื่อ Street Photo Thailand เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว พี่หนุ่มนพดล วีรกิตติ ตอนนี้พี่หนุ่มเป็น Creative Business Development Director ที่ TCDC



SPT: เริ่มสนใจ street photography เมื่อไหร่ครับ ทำไมต้องเป็น street photography
NW: น่าจะตอนประมาณ ปี 2008 หลังจากเริ่มกลับมาถ่ายภาพอีกครั้ง เนื่องจากมีลูก หลังจากถ่ายภาพครอบครัวแล้วก็เริ่มมองหาอย่างอื่นถ่ายบ้าง ไปลองออกทริปโฟโต้อยู่บ้าง ก็รู้สึกไม่ถูกจริต เพราะไม่ค่อยชอบถ่ายภาพที่เซตไว้ ถ่ายออกมาก็ได้ภาพเหมือนๆกัน เลยลองไปดูตามหนังสือภาพต่างๆ พอดีช่วงนั้นก็กำลังเซตอัพ TCDC อยู่ด้วย ได้มีโอกาสคัดเลือกหนังสือสำหรับห้องสมุด โดยเฉพาะหนังสือด้านภาพถ่าย ได้เห็นผลงานของมาสเตอร์ดังๆ มากมาย โดยเฉพาะผลงานของปู่ Henry Cartier Bresson จริงๆ ตอนนั้นภาพของ HCB ที่โดนใจผมมากที่สุด ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Decisive Moment เลย แต่เป็นลักษณะมุมมองของ Story Telling ของปู่แกมากกว่า ที่ผมรู้สึกว่า เฮ้ย ภาพถ่ายทำอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ ? คือการเล่าเรื่อง social context ผ่านภาพเพียงภาพเดียว แบบไม่ต้องเซตอัพ ช่างภาพใช้มุมมองเฉพาะตัว ในการตีความสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแล้วจับมันใส่กรอบ (Viewfinder Frame) เพื่อสื่อสารสิ่งที่ตัวเองคิดออกมา ภาพที่เหมือนตบกระบาลตัวเองคือภาพกรรมกรชาวฝรั่งเศสที่กำลังนั่งจิบไวน์ริมฝั่งแม่น้ำ ในช่วงเวลาพักบ่าย ซึ่งฉีกทุกกฏในความรู้ด้านการถ่ายภาพที่ศึกษามา เช่นถ่ายซัพเจคจากด้านหลัง คนซ้อนกัน บังกัน แม่น้ำไม่เห็นเส้นขอบ ฯลฯ แต่เป็นภาพที่เล่าเรื่องจริตของความเป็นฝรั่งเศสครบโดนใจมาก ตอนนั้นรู้สึกว่าเหมือนได้พบขุมทรัพย์ที่ถูกกับจริตตัวเอง อาจเพราะเป็นคนไม่ชอบทำอะไรตามกฏ และสนใจในเรื่องหลากหลายเรื่อง จึงรู้สึกอินกับวิธีการถ่ายภาพแบบนี้มากกว่าแนวอื่น 
 

France. Sunday on the Banks of the River Seine. 1938. Photograph: Henri Cartier-Bresson/Magnum Photos
 
SPT: จริงๆนอกจากการถ่ายภาพแล้ว มีอย่างอื่นเป็นแรงบันดาลใจด้วยป่าวครับ เช่น หนังสือ หนัง เพลง ที่มันมาประจวบเหมาะกับ street photography
NW: หลายอย่างมาก หนังสือ หนัง เพลง งานศิลปะ ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง เอาเข้าจริง พอเวลาผ่านไป สิ่งที่สำคัญมันกลับเป็นเรื่องมุมมองของชีวิตมากกว่า street photography เป็นเสมือนเครื่องมือหนึ่งที่เราหยิบมาใช้เพื่อถ่ายทอดมุมมอง ผมถึงเริ่มเข้าใจว่าทำไมเมื่อแก่ตัวลง HCB ถึงกลับไปวาดรูป งานศิลปะมันเชื่อมถึงกันหมด
 
SPT: ก่อนปี 2008 บรรยากาศการถ่ายภาพ street ของไทยเป็นอย่างไรครับ คิดยังไงถึงมาก่อตั้ง street photo thailand
NW: จำได้ว่าช่วงนั้น กล้องดิจิตอลเริ่มบูม ช่างภาพสมัครเล่นเริ่มออกมาถ่ายรูปกันเยอะ ส่วนใหญ่จะเห็นแต่แนวออกทริปถ่ายภาพพริตตี้เป็นหลัก street photography  ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก จะมีใกล้เคียงก็เรียกกันว่าแนว Life ซึ่งก็จะเน้นภาพชีวิตคนหาเช้ากินค่ำ คนหาบเร่ ขอทาน ซึ่งก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางของเราเหมือนกัน เมื่อหาเวทีลงไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจทำเวปไซต์ตัวเองขึ้นมาขึ้นมาตอนกลางปี 2008 กะว่าเป็นที่แค่เอาไว้ลงภาพตัวเอง ดูกันเองกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่คน ตอนนั้น facebook ก็ยังไม่มี 

  
 
ตอนนั้นระบบเวปไซต์ที่ใช้เป็นแพลตฟอร์ม social network รุ่นแรก ๆ ชื่อ Ning.com ที่มีระบบให้สมัครสมาชิกด้วย จำได้ว่าช่วงแรกๆมีแต่คนถามว่า street photography คืออะไร ก็ได้แต่ตอบไปว่า ก็ไม่รู้เหมือนกัน มาช่วยกันศึกษากัน ถกกัน วิจารณ์กัน ออกไปถ่ายรูปแล้วมาแสดงความคิดเห็นกัน ซึ่งก็สนุกดี มีดราม่ากันเป็นระยะ 555 บางโพสก็ถกกันยาวเหยียด เป็นเวลาช่วง pre-facebook ที่สนุกมาก ช่วงสองสามปีแรกมีสมาชิกเข้ามาในระดับหลักพัน มีรูปโพสกันห้าหกพันรูป เป็นอะไรที่เกินความคาดหมายมาก
 
มี video ที่ทำตอนช่วงนั้นด้วย เป็นช่วงยังมีแรงเหลือ 555
 
SPT: การทำเวบช่วงนั้น ทำให้คนสนใจถ่ายสตรีท แล้วเข้าใจมันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลยป่าวครับ หรือยังเป็นแนว life เช่นเดิม
NW: ผมว่าช่วงแรกก็อาจยังไม่ค่อยชัดนะ แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะที่นี่นะ ทั้งโลกก็คล้ายๆกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามันมีตัวอย่างใหม่ๆ ให้เห็นกันน้อยมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากหนังสือ ซึ่งก็มีให้เลือกน้อย แถมร้านหนังสือบ้านเราก็ไม่ค่อยสั่งหนังสือแนวนี้เข้ามา พวกเราก็ได้แต่ลองผิดลองถูกกันเอง แต่ก็ทำให้เห็นว่ามีคนหันมาสนใจภาพถ่ายแนวนี้มากขึ้นเรื่อยๆ 

จุดที่คิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนหรือ turning point ของวงการสตรีทบ้านเราคือตอนที่ได้จัด workshop ของกลุ่ม iN-Public ที่ตอนแรกก็ยังหวั่นๆ ว่าจะมีคนมาเรียนมั้ย เพราะเป็น workshop ที่เฉพาะกลุ่มมากมาก แต่ก็กลายเป็น workshop นึงที่ประสปความสำเร็จมากของ TCDC และเป็นส่วนที่จุดประกายงานใหม่ๆ ออกมาได้




vinai dithajohn's street photography workshop
 
SPT: การถ่ายภาพสตรีทตอนนี้มีหลากหลายแนวมากๆ อาจทำให้คนที่เริ่มจับทางไม่ได้ว่าอะไรคือสตรีท บางคนคิดว่าภาพตลกๆ คือสตรีทก็มี พี่หนุ่มมีคำจำกัดความคำว่า street photography ของตัวเองไม๊ครับ
NW: สำหรับผมภาพสตรีท คือการเล่าเรื่องที่ช่างภาพสนใจอยากจะเล่าด้วยตัวช่างภาพเอง บางคนชอบเล่าเรื่องตลก บางคนชอบเล่าเรื่องสังคม บางคนชอบเซอร์เรียล บางคนชอบประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับจริตความชอบของแต่ละคน ไม่ได้มีผิดหรือถูก และแต่ละคนอาจชอบเล่าผสมกันไปก็มี สิ่งสำคัญคือต้องเล่าด้วยตัวเอง ไม่มีการช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่มีการเซ็ตหรือบอกให้ซับเจคโพส อันนั้นเป็นการสร้างเรื่อง ไม่ใช่เล่าเรื่อง

  
  
 
SPT: เคยได้ยินบางคนบอกว่า street ตายแล้วบ้าง (ยังกับนิชเช) street เทียบชั้นกับศิลปะการถ่ายภาพแขนงอื่นๆไม่ได้บ้าง (ในเมืองไทยถึงกับบอกว่าไม่ใช่ art ก็มี) บางคนก็บอกว่า street มันก็แค่กระแสหนึ่งๆที่จะหายไปตามกาลเวลา พี่หนุ่มคิดว่ามันจริงหรือเปล่า
NW: 555 ใครนะช่างกล้า สำหรับพี่คิดว่าการถ่ายสตรีทไม่ได้เป็นอาชีพ ไม่มีลูกค้า ไม่มีงาน ดังนั้นมันจึงไม่ต้องกลัวว่ามันจะตาย ตลาดจะวาย ไม่มีงาน หรือมันจะเทียบชั้นได้กับศิลปะแขนงไหน แต่ก็เหมือนกับศิลปะอื่นๆในโลกนี้ที่ต้องมันไม่สามารถยืนหยัดอยู่ด้วยเทคนิคที่แตกต่างได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถเชื่อมต่อกับบริบทของโลกที่หมุนไปได้ สำหรับผม street photography น่าจะเป็น genre ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดแล้ว เพราะมันมีกรอบของความจริงบังคับอยู่
 
SPT: street photography ในเมืองไทยยังได้รับความนิยมและตื่นตัวอย่างต่อเนื่อง street photo thailand เป็นส่วนแรกๆที่ผลักดันให้เกิดขึ้น ในฐานะของคนที่ก่อตั้ง street photo thailand มองเห็น street photography ของไทยกำลังพัฒนาไปทางไหน และวงการศิลปะของไทยจะสนใจการถ่ายภาพแนวนี้มากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ครับ
NW: จริงๆ แล้วจุด turning point อีกจุดนึงที่ลืมไม่ได้คือ การเกิดขึ้นของ street photo thailand ยุคที่สอง ที่เกิดและเติบโตอย่างแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้ คือในยุคแรกนั้นผมทำอยู่คนเดียว แรกๆก็สนุกดีออก แต่อพอช่วงหลังๆ งานประจำมากขึ้น ก็ไม่ค่อยมีเวลา ร่ำร่ำว่าจะเลิกทำอยู่แล้ว ก็พอดี ได้พี่แก๊ป หนิง ต๋อง โต้ง กับพี่วินัยเข้ามาช่วยกอบกู้ สร้างกิจกรรมและริเริ่มอะไรใหม่ๆ มากมาย พูดได้ว่ายุคที่สองนี่เองที่ทำให้การถ่ายสตรีทในเมืองไทยเกิดขึ้นอย่างเต็มตัวจริงๆ

โดยส่วนตัวผมมองว่า street photography เมืองไทยพัฒนาไปมากเกินกว่าวันแรกที่ผมคิดเพียงแค่สร้างพื้นที่เล็กๆไว้คุยกันเอง เรามีคนไทยออกไปชนะรางวัลระดับโลกมากขึ้นเรื่อย เป็นเรื่องที่ดีมากเมื่อเทียบกับการถ่ายภาพแนวอื่นๆ แสดงว่ามาตรฐานทางด้านนี้เราไม่แพ้ใคร สิ่งที่อยากเห็นในอนาคต คือการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความเป็น street photography กับ ความเป็นบริบทของความเป็นไทย (Thainess) ที่สื่อสารในระดับสากล ทั้งเรื่อความเชื่อ ประวัติศาสตร์ การเมือง
 

  
  
 
SPT: TCDC เป็นผู้ที่จัด Workshop Street Photography เป็นรายแรก (อันนี้ไม่แน่ใจ พี่หนุ่มน่าจะ confirm ได้) ทั้งของพี่วินัย ดิษฐจร หรือของ in-public ในอนาคตทาง TCDC จะมีเรื่องน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับวงการ street photography หรือวงการถ่ายภาพอีกหรือเปล่าครับ
NW: ใช่ตอนนั้นจัดของวินัยก่อน เป็นครั้งแรก แล้วก็ iN-Public กำลังดูอยู่ว่าปีหน้าจะพยายามดีลงานผ่านทางสถานฑูตประเทศต่างๆอยู่ เพราะงบประมาณค่อนข้างจำกัด ต้องพึ่งการสนับสนุนหน่วยงานของประเทศที่ช่างภาพ คงต้องรอให้เปิดศูนย์ก่อน ถึงจะชัดเจนขึ้น
 
SPT: คำถามสุดท้าย มีอะไรจะ update บ้างหรือเปล่าครับ Photobook   โปรเจคใหม่ๆ หรือชีวิตช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง อยากฝากอะไรถึงคนที่อ่านมาถึงตรงนี้หรือเปล่าครับ
NW: ขอสารภาพว่าช่วงนี้ชีวิตยุ่งเหยิงมากทั้งภาระกิจงานที่ต้องดูแลการก่อสร้าง TCDC ให้เสร็จทันในกลางปีหน้า และงานใหม่ๆ ที่เข้ามา แทบไม่ได้จับกล้องเลย  ที่จริงมีโครงการอยากทำเยอะมาก เอาไว้ช่วงครึ่งปีหลังคงได้คุยกัน สิ่งที่อยากฝากคือ ชีวิตและมุมมองเป็นของเรา ใช้มันในการถ่ายภาพให้มันสนุกนะครับ

  
  
LINK : http://streetphotothailand.com/NoppadolWeerakitti
© 2012 - 2024 Street Photo Thailand