Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
Book Corner: Street Photography Now, Decade, A Year in Photography
Posted by Noppadol Weerakitti - Nov 02, 2012 20:39
Street Photography Now จากสำนักพิมพ์ Thames & Hudson ที่มักจะมีหนังสือคุณภาพดี ราคาหาซื้อได้ออกมาอยู่สม่ำเสมอ เป็นหนังสือที่รวบรวมภาพถ่ายแนว street photography จำนวน 301 ภาพ ทั้งภาพสีและขาวดำ
 
ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือการผู้แต่งคือ Sophie Howarth และ Stephen McLaren ได้นำเสนอมุมมองและวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังผลงานของช่างภาพแต่ละคนที่มีผลงานปรากฎอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เราจะได้เห็นว่าเบื้องหลังการออกไปเดินถือกล้องเตร็ดเตร่อยู่กลางถนนของ street photographer ระดับตัวจริงเสียงจริงนั้น ไม่ได้เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่มีจุดมุ่งหมายและวิธีคิดของการสื่อสารบางอย่างสนับสนุนอยู่ เช่นงานภาพถ่ายชุด Life Below ของ Christophe Agou ช่างภาพชาวฝรั่งเศสที่ทำงานใน New York เป็นงานภาพขาวดำของคนหลายเชื้อชาติขณะโดยสารรถไฟใต้ดินที่มีพลังมาก โดยช่างภาพต้องการใช้ความคับแคบของรถไฟใต้ดินเพื่อสื่อถึงความกดขี่หรือความไม่เท่าเทียมกันของคนชั้นล่างผ่านผู้โดยสารที่เป็นคนผิวดำหรือคนเม็กซิกันที่หดหู่และแปลกแยก เป็นต้น
 
ตัวอย่างภาพในชุด Life Below

  
 
ในบทที่ชื่อว่า NO IDEAS BUT IN THINGS น่าจะทำให้หลายคนหายข้องใจกับคำถามว่า ภาพแนว street จำเป็นต้องมีคนหรือสิ่งมีชีวิตอยู่ในภาพหรือไม่ โดยยกตัวอย่างภาพของช่างภาพรุ่นใหม่ๆ อย่าง Melanie Einzig, Nils Jorgensen, Matt Stuart หรือ Nick Turpin   ที่นำเสนอภาพวัตถุบนท้องถนนในบริบทที่สามารถสื่อสารให้คนดูนึกไปถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับวัตถุนั้นได้ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ผมว่ามันยากกว่าการถ่ายภาพที่มีคนเป็นองค์ประกอบหลักเสียอีก 
 
ตัวอย่างผลงานของ Nils Jorgensen
 
 
 
ผลงาน นกยูง (Peacock) ของ Matt Stuart
 
 
ผลงานของช่างภาพรุ่นมาสเตอร์ที่มีอิทธิพลต่อนักถ่ายภาพสตรีทรุ่นใหม่ๆ ในแนว “ไม่เอามนุษย์” นี้ก็นี่เลยครับ Eugène Atget, Walker Evans และ Lee Friedlander.
 
โดยสรุปแล้ว ผมชอบหนังสือ Street Photography Now นี้ ตรงการนำเสนอมุมมองและวิธีคิดที่หลากหลายของเหล่าช่างภาพ โดยเฉพาะการที่มีการกำหนด ธีม (Theme) แล้วออกไปถ่ายตามธีมที่ตัวเองกำหนด โดยที่ธีมเหล่านั้นไม่ได้เป็นธีมทั้่วไปอย่างที่เราคุ้นเคยกันอย่าง texture, closeup หรือ color อะไรเทือกนั้น หากแต่เป็นการนำเสนอภาพถ่ายผ่านกระบวนการคิดเชิงสังคม การเมือง วัฒนธรรมของปรากฏการณ์ในพื้นที่สาธารณะ ตัวอย่างเช่น ภาพถ่ายที่ติดตามสำรวจการแต่งตัวของหนุ่มสาวชาวเกาหลี ที่แข่งกันสร้าง อัตลักษณ์ตัวตนของตัวเอง ผ่านการใช้สีสรรคและลวดลายของผ้าและการตัดเย็บหลากหลายรูปแบบ เพื่อไม่ให้จมหายไปกับกระแสสำเร็จรูปในเมืองใหญ่ (โดยช่างภาพ Bang Byoung-Sang) เป็นต้น 
 
มันทำให้ผมได้พบว่า การถ่าย Street ที่ผมเคยคิดว่ามันสนุกและน่าสนใจนั้น อันที่จริงแล้ว มันสนุกและน่าสนใจมากกว่าที่ผมคิดมากมายนัก
 
สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.facebook.com/streetphotographynow
 
 

หนังสือเล่มที่สองมีชื่อว่า DECADE เป็นหนังสือรวมภาพถ่ายแนวภาพข่าวในระยะ 10 ปี (2000-2010) ของช่างภาพทั่วโลก คัดเลือกโดย Eamonn McCabe และอธิบายความโดย Terence McNamee, Anna Rader และ Adrian Johnson โดยสำนักพิมพ์ PHAIDON 
 
ต้องสารภาพว่าเหตุผลหลักที่ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ทันทีที่เห็นคือ ราคาครับ หนังสือรวมภาพถ่ายข่าวการเมือง วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และกีฬาหนาร่วม 500 หน้าพิมพ์สี่สีทั้งเล่ม ในราคาแค่พันบาทนิดนิด (คิโนคุนิยะขายในราคาลด 20 % จากราคาตั้ง 1,280 บาท)  มันเป็นอะไรที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลย 
 
นอกจากภาพถ่ายที่มีพลังอย่างยิ่งแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือกระบวนการคิดในการคัดเลือกภาพเพื่อนำไปใช้ โดยเฉพาะในยุคกล้องดิจิตอล ลองคิดดูว่าในเหตุการณ์หนึ่งๆ ช่างภาพแต่ละคนกดกันมาคนละกี่ร้อยภาพ แล้วบรรณาธิการภาพต้องเลือกแค่หนึ่งภาพมาเป็นตัวแทนของเหตุการณ์นั้น ดังนั้นความสนุกส่วนหนึ่งของการเสพย์หนังสือเล่มนี้คือการอ่าน caption ประกอบภาพแล้วคิดตามว่าทำไมภาพนั้นถึงได้ถูกเลือกมาพิมพ์แทนภาพอื่นๆ 
 
ตัวอย่างเช่นภาพในหน้า 472-473 เป็นภาพของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเฮติในเดือนมกราคม ปี 2553 ภาพที่ได้รับเลือกเหนือจากภาพในเหตุการณ์้เดียวกันเป็นพันพันภาพ เป็นภาพหนูน้อย KiKi วัย 7 ขวบที่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย หลังจากติดอยู่ในซากปรักหักพังนานเกือบ 8 วัน เป็นภาพที่ผู้เลือกต้องการสื่อถึงความหวัง (Hope) ของมนุษยชาติและชาวเฮติในการก้าวเดินต่อไป แทนความรู้สึกสูญเสียและความเศร้าโศกจากความเสียหายและการพลัดพราก แน่นอนว่าการเลือกนั้นเป็นเรื่อง subjective มาก แต่ก็เป็นประโยชน์สำหรับเราในการเรียนรู้เพื่อปรับใช้ในการ edit งานของเราเอง
 
A triumph among the tragedy: Kiki is pulled from the rubble alive and well, seven and a half days after the Haiti earthquake.  

 
 
เล่มสุดท้าย A Year in Photography MAGNUM ARCHIVE โดยสำนักพิมพ์ PRESTEL 
 
เหตุผลที่ซื้อเหมือนเล่มที่แล้วครับ
 
คิดดูหนังสือรวมภาพถ่ายพิมพ์สี่สี หนา 700 กว่าหน้า ในราคาแปดร้อยกว่าบาท โอ้แม่เจ้า (คิโนคุนิยะอีกแล้ว ลด 20% จากราคา 1,075 บาท) และเป็นภาพใน stock ภาพของ MAGNUM PHOTOS ซึ่ง(อาจจะ)เป็น agency ภาพข่าวที่ดีที่สุดในโลกก็ว่าได้  
 
 
ภาพจำนวน 365 ภาพในหนังสือเล่มนี้ถูกคัดจาก stock ภาพของ MAGNUM ที่มีอายุกว่า 50 ปี เกือบทั้งหมดเป็นฟิล์ม แค่คิดว่าจำนวนฟิล์มทั้งหมดมีอยู่เท่าไหร่ และจะมีใครจำได้ว่าภาพไหนอยู่ฟิล์มม้วนไหน ก็เหนื่อยแล้ว ที่สำคัญคือภาพที่คัดมาส่วนหนึ่งเป็นภาพที่แทบไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน 
 
เป็นหนังสือที่หยิบมาดูทุกครั้งที่รู้สึกว่ากำลังหมดมุข ดูทุกครั้งก็ได้มุขใหม่ๆ ให้มีกำลังใจคว้ากล้องออกไปทุกครั้ง
 
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการถ่ายภาพครับ :)

by Noppadol Weerakitti
© 2012 - 2025 Street Photo Thailand