Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
Henri Cartier-Bresson
Posted by Noppadol Weerakitti - Nov 16, 2012 09:52
พอดีไปได้หนังสือชื่อ Henri Cartier-Bresson เขียนโดย Clément Chéroux สำนักพิมพ์ Abrams, New York อ่านไปเรื่อยๆ พบว่ามีข้อมูลน่าสนใจมากมาย ประกอบกับพบว่ามีพวกเราหลายคนในที่นี้ที่ชื่นชอบใน Mr. HCB คนนี้อยู่ เลยอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง
 
โดยรูปแบบไม่ได้เป็นการแปลแต่เป็นการสรุปสิ่งที่อ่าน+การตีความของผมเอง ผิดถูกอย่างไรก็ขอให้ช่วยเสริมเติมแย้งกันได้นะครับ
 
ผมเองเป็นคนหนึ่งซึ่งชื่นชอบในผลงานของ HCB โดยไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาเป็นใคร ยิ่งติดตามดูผลงาน ก็ยิ่งอยากรู้ไปถึงวิธีคิด ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการมองโลกของเขา วิธีที่เขาใช้ในการแปลความและสื่อสารออกมาผ่านภาพถ่ายที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว มันต้องไม่ใช่แค่มีกล้อง Leica หรือห้องมืดดีๆ หรือเทคนิควัดแสงแบบพิเศษแน่ๆ
 
ด้านหลังของหน้าปกหนังสือเล่มนี้ได้โค้ดคำพูดของ HCB ที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Life ฉบับเดือนมีนาคม 1963 ความว่า




สำหรับผม คำว่า "I understand things through my eyes" นั้น มีนัยยะเดียวกันกับที่ Robert Capa กล่าวไว้ว่า
"If your pictures aren't good enough, you're not close enough."
 
Close อาจไม่ได้หมายถึงความใกล้ไกลของระยะทางระหว่างช่างภาพกับ Subject หากแต่เป็นความชัดลึกตื้นของความเข้าใจที่ช่างภาพแต่ละคนมีต่อ Subject และสภาวะตอนนั้น และตีความมันออกมาเป็นภาพถ่ายในแบบฉบับของตัวเอง นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผลงานของช่างภาพระดับมาสเตอร์เหล่านั้นได้รับการยอมรับมาจนถึงทุกวันนี้
 
ก่อนจะเริ่มเข้าเรื่อง ขอโหมโรงด้วยตัวอย่างภาพบางส่วนเพื่อเรียกแขกก่อนนะครับ
 
   
 
 

บทที่ 1 ชีวิตในวัยเด็ก
 
อองรี กาติเยร์-เบรสซง (Henri Cartier-Bresson) เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีฐานะค่อนข้างดี ครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเส้นด้าย ทำให้ชีวิตในวัยเด็กค่อนข้างสุขสบาย มีโอกาสได้สัมผัสกับคอนเสิร์ต พิพิธภัณฑ์ ตลอดจนนิทรรศการศิลปะดีดีอยู่สม่ำเสมอ เป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอม HCB ให้มีความผูกพันและรักในงานศิลปะจนเป็นรากฐานสำคัญในงานภาพถ่ายของเขาในเวลาต่อมา
 
ผมอยากจะเสริมตรงนี้ว่า HCB นั้นเกิดในปี 1908 หรือประมาณเมื่อ 100 ปีมาแล้ว ในประเทศฝรั่งเศสขณะนั้นมีสถานที่แสดงดนตรีดีดี มีพิพิธภัณฑ์ มีนิทรรศการศิลปะ มีห้องสมุด ให้เด็กได้เรียนรู้ได้ศึกษา จนหล่อหลอมให้คนของเขามีความรักความเข้าใจในศิลปะ ผลิตทั้งศิลปิน และผู้เสพงานศิลปะไปพร้อมๆกันในสังคม ซึ่งมีผลอย่างกว้างขวางต่อการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพของประเทศ เทียบกับประเทศไทยใน 100 ปีที่ผ่านมา ถึงวันนี้เรายังไม่มีการลงทุนสร้างแหล่งความรู้ทางศิลปะที่ดีดีในปริมาณและคุณภาพที่มากพอ ทั้งๆที่เราก็ได้ไปเห็นได้ไปดูงานประเทศต่างๆกันมาก็เยอะ ก็ขอบ่นหน่อยแล้วกันนะครับ
 
บุคคลสำคัญคนแรกที่มีอิทธิพลทางด้านศิลปะกับ HCB คือลุงของเขาเอง หลุยส์ กาติเยร์-เบรสซง (Louis Cartier-Bresson) เป็นจิตรกร และเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้เขาตัดสินใจเลือกเส้นทางศิลปะแทนการสานต่อธุรกิจเส้นด้ายของครอบครัว
 
ในปี 1926 ในช่วงอายุ 18 ปี HCB ได้เข้าศึกษาใน Lhote Academy ซึ่งก่อตั้งโดย Andre Lhote ศิลปินที่มีรากฐานด้าน Cubism แม้ว่าเขาจะใช้เวลาเรียนที่นี่แค่ 2 ปี แต่เขาก็ยอมรับว่าสถานศึกษาแห่งนี้มีส่วนสำคัญในการสอนให้เขาอ่านและเขียนเป็น (ในทางศิลปะ) ซึ่งนำไปสู่การอ่านและเขียนเป็นในทางการถ่ายภาพในเวลาต่อมา
 
ในช่วงที่ศึกษาอยู่ที่ Lhote Academy นั้น HCB ได้เข้าร่วมกับศิลปินกลุ่ม Surrealism ซึ่งได้มีอิทธิพลทางด้านการพัฒนาด้านความคิดของหนุ่มน้อย HCB เป็นอย่างมาก หลังจากเรียนจบ HCB ได้เข้าร่วมกับกองทัพอากาศ ประจำอยู่ที่ Le Bourger ทางตอนเหนือของกรุงปารีส ในตอนนั้นเองที่เขาได้พบกับ Harry และ Caress Crosby คู่สามีภรรยาชาวอเมริกันจากตระกูลสังคมชั้นสูงแถบบอสตัน ทั้งคู่เป็นผู้ที่ให้ความสนใจในศิลปะและวรรณกรรมและเป็นผู้ที่ทำให้ HCB ได้พบกับ Salvador Dali และ Max Ernsrt สองศิลปินเซอร์เรียลิสม์ผู้ยิ่งใหญ่ และได้ทำความรู้จักกับ Julien Levy บุตรชายของมหาเศรษฐีชาวนิวยอร์ค ซึ่งเป็นคนแรกๆที่นำเข้าศิลปินกลุ่มหัวก้าวหน้าจากยุโรบเข้าสู่ประเทศอเมริกา และเป็นคนที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างชื่อเสียงให้กับ HCB ในอเมริกา

Photographic Beginnings
 
ขออนุญาติใช้คำภาษาอังกฤษนะครับ เพราะพยายามแปลแล้วมันไม่ลงตัว ไมได้ความงามและความหมายเหมือนคำภาษาอังกฤษ เอาไว้คิดออกแล้วค่อยกลับมาแก้ไข
 
อันที่จริง HCB ก็ได้รับรู้ถึงการมาถึงของเทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ที่ Lhote แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังเท่าไหร่ และตีค่ามันเป็นแค่ของเล่นงานอดิเรก ไม่มีความหมายทางศิลปะเหมือนการวาดภาพที่เขาสนใจอยู่
 
ตอนที่มาศึกษาต่อที่ Le Moulin du Soleil ในเมือง Ermenonville เป็นช่วงเวลาที่ไม่เพียงแต่ทำให้ HCB หันมาสนใจการถ่ายภาพอย่างจริงจัง แต่เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขาได้มีโอกาสสัมผัสกับผลงานของช่างภาพชั้นดีหลายๆคน เช่น Eugène Atget, Man Ray, André Kertész, Eli Lotar, Lazlo Moholy-Nagy, Lee Miller และได้ถูกชักชวนโดย Gretchen และ Peter Powel ให้เริ่มต้นถ่ายภาพอย่างจริงจัง และทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองความคิดเกี่ยวกับการถ่ายภาพไปอย่างสิ้นเชิง เขาเริ่มตระหนักว่าเขาสามารถใช้มันในทางศิลปะเช่นเดียวเดียวกับงานภาพวาด ผลงานภาพถ่ายในยุคแรกๆของ HCB ได้รับอิทธิพลจากงานของ Atget อย่างชัดเจน
 
สองรูปแรกเป็นผลงานของ HCB
 
  

และสองรูปต่อมาคือผลงานของ Eugène Atget

 

ตอนที่ HCB เริ่มต้นเอาจริงเอาจังกับการถ่ายภาพ เป็นเวลาที่ Atget เพิ่งเสียชีวิต เปรียบเสมือนว่าคลื่นลูกใหม่อย่าง HCB ได้เริ่มต้นโดยมีต้นแบบที่ดีอย่าง Atget และเหล่าช่างภาพเก่งๆ เป็นแนวทาง และพัฒนาตนเองจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครในที่สุด
 
คำถามก่อนนอน สำหรับเราเราท่านท่าน เรามีใครเป็นต้นแบบกันบ้างครับ
 
บทที่ 2 เริ่มต้นอาชีพช่างภาพ
 
ในช่วงทศวรรษ 1930 เป็นช่วงเวลาที่ HCB ได้ทุ่มเททำงานในฐานะช่างภาพอย่างเต็มตัว และได้มีโอกาสเดินทางไปตามส่วนต่างๆของโลก จากเมืองอาบิดจาน (Abidjan) เมืองที่ใหญ่ที่สุดและเป็นเมืองหลวงเก่าของประเทศโกตดิวัวร์ (ไอวอรี่โคสต์) ไปนิวยอร์ค วอร์ซอร์ เบอร์ลิน ฟลอเรนซ์ และเม็กซิโก เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขาได้พัฒนาทักษะและสไตล์ของตัวเอง โดยเฉพาะการผสมผสานระหว่างความงามบริสุทธิ์ของรูปทรงเรขาคณิต (Geometric) กับความล้นเหลือของศิลปะแนวเหนือจริง (Surrealist) และผลงานระดับสุดยอดบางชิ้นได้ถูกสร้างสรรค์ในช่วงนี้
 
HCB ก็เหมือนเหมือนกับคนหนุ่มสาวในยุโรปขณะนั้นที่ต้องการจะออกไปผจญภัยในโลกกว้าง และมองว่าแอฟริกาคือบททดสอบความเป็นนักผจญภัยที่ควรค่าแก่การท้าทาย อีกทั้งตระหนักดีว่ารากของศิลปะแนว Cubism ที่เขาเรียนที่ Lhote นั้นมาจากทวีปแห่งนี้ ดังนั้นหลังจากออกจากกองทัพอากาศได้ไม่นาน เขาก็มุ่งหน้าสู่ Côte d'Ivoire เมืองอาณานิคมของฝรั่งเศสในทวีปแอฟริกา
 
ในปีแรกที่ HCB อยู่ในแอฟริกา เขาไม่ได้ทำงานถ่ายภาพอย่างเดียว เขาเป็นทั้งพ่อค้าไม้ซุง, เจ้าของฟาร์ม และนายพราน อย่างไรก็ดีเขาก็ได้มีโอกาสถ่ายภาพอยู่บ่อยครั้งและเริ่มมีพัฒนาการด้านองค์ประกอบภาพ (Composition) ที่มีลักษณะเฉพาะตัว เขาคงจะได้อยู่ในแอพริกานานกว่านี้ถ้าไม่บังเอิญเป็นไข้ป่าและถูกส่งตัวกลับยุโรปในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 1931 สิ่งที่ทำให้ HCB กลับมามุ่งมั่นในวิถีของช่างภาพอย่างเต็มตัว คือการได้เห็นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "Three Boys at Lake Tanganyika" ของช่างภาพชาวฮังกาเรียนชื่อ Martin Munkácsi



สำหรับชายหนุ่มอายุ 23 ปี ภาพดังกล่าวเป็นเสมือนการจุดไฟในตัวเขาให้ลุกโชนด้วยความปราถนาในการค้นหาความเป็นจริงของชีวิตผ่านเลนส์ของกล้องถ่ายภาพ (... I must say that it was this photo that lit the fuse and gave me the desire to study the reality through the lens of the camera)
 
HCB ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขาถูกตรึงด้วยความสมบูรณ์แบบในทุกมิติของภาพเด็กผู้ชายผิวดำ 3 คนที่กำลังวิ่งลงไปเล่นน้ำ ทั้งคอนทราสของสีผิวที่ตัดกับฟองของน้ำ การเคลื่อนไหวที่สง่างาม และการจัดองค์ประกอบภาพที่แสนฉลาด (หรือลึกลับ ?) มันไม่ได้เพียงแต่ปลุกความทรงจำเกี่ยวกับแอฟริกาแต่เหนือสิ่งอื่นใดมันแสดงให้เขาเห็นว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้างกับกล้องและการถ่ายภาพ
 
ตอนที่อ่านมาถึงตรงนี้ครั้งแรก ผมนั่งมองภาพนี้อยู่นาน และพบว่าทุกสิ่งที่ HCB พูดไว้มันโครตจริงเลย ยิ่งมองยิ่งทึ่ง โดยเฉพาะเมื่อคิดว่ารูปนี้ถ่ายไว้เมื่อเกือบ 80 ปีที่แล้ว เมื่อเทคโนโลยีกล้องยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น องค์ประกอบภาพ แสงเงา และเรื่องราว ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าคุณจะใช้กล้องหรือเลนส์อะไร
หนุ่มน้อย HCB ตัดสินใจออกเดินทางอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้ไม่ได้ต้องการจะท่องโลกเยี่ยงคนหนุ่มสาวทั่วไป หากแต่ต้องการจะถ่ายภาพเยี่ยงนักถ่ายภาพ เขาเดินทางไปทั่วยุโรบตะวันออก -เบอร์ลิน บูดาเปส วอร์ซอร์ ถ่ายภาพเมืองต่างๆในรูปแบบเดียวกับที่ Atget ถ่ายเมืองปารีส ในปี 1933 HCB กับเพื่อน Andre Pieyre de Mandiargues และ Leonor Fini ขับรถยนต์มือสองยี่ห้อบูอิค ไปตามเมืองต่างๆในอิตาลี
 
Mandiargues ได้พูดถึงช่วงเวลานี้เอาไว้ว่า "ผมได้เป็นพยานของการเกิดขึ้นของช่างภาพที่ดีที่สุดของยุคสมัย"
 
จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้ของทางตะวันตกมีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมคนของเขาให้รู้จักโลก เข้าใจโลกผ่านการเดินทางและพบปะผู้คน ผมนึกไม่ออกว่าในประเทศเรา ถ้าลูกอายุ 20 กว่าๆมาบอกพ่อแม่ว่า จะเดินทางท่องโลกเพื่อหาประสปการณ์ เพื่อเข้าใจโลก ก่อนจะกลับมาทำงาน จะมีกี่ครอบครัวที่จะอนุญาติ ไม่ต้องเมื่อ 70 ปีที่แล้วหรอก ปี 2009 นี่แหละ
 
ลองชมผลงานตัวอย่างผลงานของ HCB ในช่วงที่กำลังกลายร่างเป็น Cartier-Bresson อย่างเต็มตัว

 
(Left) 1933 Andalusia, (Right) Cordoba, Spain, 1933

 
(Left) Italy, 1933  (Right) Barrio Chino, Barcelona 1933

การเดินทางของภาพถ่าย (Photographic Journeys)
 
ในฤดูใบไม้ผลิของปีค.ศ. 1934 อองรี กาติเยร์-เบรสซง ตัดสินใจเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปยังทวีปอเมริกาใต้ หลังจากใช้เวลาสั้นๆ ถ่ายภาพดีดีหลายภาพที่เมืองฮาวานา เขาก็ไปยังท่าเรือเวลาครูซ (Veracruz) ประเทศเม็กซิโก ที่ซึ่งเขาได้งานช่างภาพกับพิพิธภัณฑ์ด้านมานุษยวิทยาโทรคาเดโร (Trocadero Museum of Ethnography) แต่แล้วโครงการก็ล้มเลิกไปเพราะขาดเงินทุน ทีมงานต่างก็แยกย้ายกันไป ยกเว้นกาติเยร์-เบรสซง ที่ยังคงปักหลักอยู่แถบจตุรัสที่มีชื่องเสียงในเมืองเม็กซิโกซิตี้ที่มีชื่อว่า La Candelaria de los Patos เป็นเวลาหลายเดือน โดยทำงานเป็นช่างภาพให้กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ถ่ายรูปของตัวเองไปด้วย
 
กาติเยร์-เบรสซงสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่เจิดจ้าและสะดุดตาด้วยการผสมผสานแสงและเงาที่เกิดขึ้นภายใต้แสงแดดของเม็กซิโก ประเทศที่มีกลิ่นอายของความเหนือจริง (Surrealist) สูง เขามีความลุ่มหลงในภาพความตายที่พบเห็นได้ทั่วไปและท่าเต้นระบำแบบเม็กซิกัน และได้ผลิตงานภาพถ่ายมากมายในช่วงนี้  ซึ่งบางครั้งไปเหมือนกับผลงานภาพถ่ายของ Manuel Alvarez Bravo ช่างภาพชาวเม็กซิกัน โดยเป็นไปได้ยากที่จะสรุปว่าเป็นเพราะอิทธิพลของตัวสถานที่หรือเพราะอิทธิพลที่ส่งถ่ายระหว่างช่างภาพสองคนที่ออกเดินทางและแสดงงานร่วมกันที่ทำให้เกิดผลงานที่ใกล้เคียงกันดังกล่าว



หลังจากพักอยู่ในเม็กซิโกได้ประมาณหนึ่งปี เขาก็ออกเดินทางต่อ คราวนี้จุดหมายต่อไปคือเมืองนิวยอร์ค เมื่อมาถึงนิวยอร์คในฤดูใบไม้ผลิปีค.ศ. 1935 เขาได้พบและรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับเพื่อนเก่าที่รู้จักกันในเมือง Montparnasse ตอนกลางทศวรรษ 1920 และเหมือนกับตอนอยู่เม็กซิโก เขาใช้เวลาทั้งวันเดินทั่วทั้งเมืองเพื่อตามล่าภาพที่แสดงถึงความเป็นอมตะของเหตุการณ์ในห้วงเวลาหนึ่งๆ หรือ "eternity in a moment"  - ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจะหายไปตลอดกาลถ้าไม่มีใครบันทึกไว้ 

 
© 2012 - 2024 Street Photo Thailand