Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
ภาพแนว Life ไม่จำเป็นต้องมีแค่ Life
Posted by Akkara Naktamna - Feb 11, 2013 21:15
ก่อนที่จะคุยกันเรื่องหัวข้อ ต้องทำความเข้าใจในประเด็นเรื่องภาพแนวชีวิต (Life) ก่อนว่าแท้จริงที่แล้ว ภาพที่เขาเรียกกันว่าแนว Life หรือภาพถ่ายแนวชีวิตมันเป็นยังไงกันแน่ ซึ่งในความหมายที่ผมเข้าใจนั้น คือภาพของชีวิตผู้คนในลักษณะต่างๆ อาจเป็นภาพของคนๆเดียว หรือมากกว่าหนึ่งคน ส่วนมากจะจบในภาพเดียว มีเรื่องราวเขียนประกอบไว้เล็กน้อย หรือไม่มีเลย จุดเด่นคือ ความสวยงามในด้านองค์ประกอบศิลป์ และการดำเนินชีวิตของคนในภาพที่น่าสนใจ อาจกล่าวโดยสรุปคือ เป็นภาพถ่ายที่แสดงถึงชีวิตของผู้คนในรูปแบบต่างๆ โดยมีข้อสังเกตว่า เรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นของกลุ่มคนชั้นกลางลงไปจนถึงชั้นล่างสุดของสังคม โทนของภาพจะค่อนข้างเคร่งขรึม จริงจัง และส่วนมากจะเป็นภาพขาวดำ ทำให้ความจริงจังของภาพแนว Life มีมากขึ้นไปอีก


Akkara Naktamna
 
ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ภาพแนว Life นั้นไม่อยู่ในการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะเป็นการเรียกกันขึ้นมาเอง โดยดูจากลักษณะของภาพเป็นหลัก หมวดหมู่ที่ครอบคลุม และเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพแนว Life ได้แก่ Street, Candid, Documentary, Photojournalism, Travel  จะเห็นว่ามีการถ่ายภาพหลายแขนงที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพแนว Life เราไม่อาจชี้ชัดได้ว่าภาพแนว Life นั้นจัดอยู่ในการถ่ายภาพประเภทใดอย่างแน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย ทั้งตัวช่างภาพเอง สถานที่ และองค์ประกอบต่างๆที่แวดล้อมภาพถ่ายนั้นๆ


Akkara Naktamna
 
ในการถ่ายภาพ Street Photography แบบไม่มีสิ่งมีชีวิตในภาพนั้น (มีคนบัญญัติศัพท์ว่า Still Life Street Photography) มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เราอาจดูได้จากภาพถ่ายของ Eugène Atget (1857-1927) ที่ถ่ายภาพสิ่งต่างๆบนถนนในกรุงปารีสตั้งแต่ก่อนที่จะมีคำว่า Street Photography ซะอีก หรือแม้กระทั่ง Walker Evans (1903-1975) ที่เป็นช่างภาพสารคดี แต่ก็ใช้การถ่ายภาพสิ่งของต่างๆเพื่อประกอบขึ้นมาเป็นชุดภาพถ่ายสารคดีที่ยอดเยี่ยม เลยมาจนถึงยุคที่การถ่ายภาพสตรีทเฟื่องฟู Lee Friedlander (1934-now) หนึ่งในช่างภาพที่ร่วมแสดงงานในนิทรรศการ New Documents ที่เป็นเสมือนการก้าวเข้าสู่ยุคทองของ Street Photography (ช่างภาพอีกสองคนคือ Diane Arbus และ Garry Winogrand) ภาพถ่ายของ Lee Friedlander โฟกัสไปที่สิ่งต่างๆที่อยู่ในสังคมรอบตัว หรือที่เรียกว่า "Social Landscape" มีการเล่นกับสิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นป้ายโปสเตอร์ ไฟจราจร กระจกหน้าร้าน หุ่นโชว์ ฯลฯ 

 
Left: Eugène Atget ; Right: Lee Friedlander
 
ข่างภาพอีกคนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ในการถ่ายภาพสิ่งที่ไม่มีชีวิต นั่นคือ Martin Parr ช่างภาพขาวอังกฤษที่มีงานภาพที่แตกต่าง การใช้แสงแฟลชที่แข็ง สาดไปยังสิ่งของต่างๆ สร้างความน่าประหลาด และดูประดักประเดิดกับสิ่งที่เรามองเห็นอยู่ทุกวัน จนถึงยุคปัจจุบัน ช่างภาพสตรีทยุคใหม่ในกลุ่ม iN-Public ได้สร้างสรรค์งานสตรีทแนวไร้คนออกมามากมาย ที่ดูโดดเด่น ได้แก่ Nils Jorgensen, Matt Stuart, David Gibson และ Blake Andrews


Martin Parr


Matt Stuart
 
ตามชื่อ ภาพแนวนี้ก็ควรจะต้องเป็นภาพที่มีสิ่งมีชีวิตข้างในนั้น นั่นก็คือ มนุษย์ แท้ที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องใส่ มนุษย์เข้าไปในภาพเสมอไป เพราะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตนั้นมีมากมายทั้งทางตรง และทางอ้อม เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องมือประกอบอาชีพ ป้ายข้างทาง หรือกระทั่งขยะที่ทิ้งแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนตัวแทนของชีวิตในอีกแบบหนึ่ง ที่เรานำมาสื่อความหมายได้เทียบเคียงการถ่ายภาพสิ่งมีชีวิตจริงๆ และไม่แน่ว่าภาพของสิ่ง “ไร้ชีวิต” เหล่านี้ กลับแสดงความหมายได้เที่ยงตรง และเข้าถึงความ “มีชีวิต” ได้มากกว่าภาพของสิ่งที่มีชีวิตเองเลยด้วยซ้ำ หากเราคิดว่ากำลังจะถ่ายภาพ Life ลองหันกล้องไปยังสิ่งไร้ชีวิตดูบ้าง น่าจะสร้างความแตกต่าง และแปลกใหม่ให้ภาพ Life มากยิ่งขึ้นครับ 

by Akkara Naktamna
 
© 2012 - 2024 Street Photo Thailand