Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
เงาเวลา ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์
Posted by Manit Sriwanichpoom - Mar 07, 2013 19:11
ผมไม่เคยรู้ว่า ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ (2475 – 2552) เป็นช่างภาพมาก่อนเป็นนักเขียน ผมจึงพลาดโอกาสที่จะได้สัมภาษณ์พูดคุยเรื่องงานถ่ายภาพของ ‘รงค์ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ผมเคยติดตามกลุ่มเพื่อนรุ่นพี่ซึ่งมี วัฒน์ วรรลยางกูร พาไปกินเหล้าบ้านพี่ปุ๊เมื่อครั้งยังอยู่ในกรุงเทพ (น่าจะเป็นปี 2530) แต่ไม่มีใครเคยพูดถึงเรื่องนี้เลย ราวกับชีวิตก่อนหน้าการเป็นนักเขียนของศิลปินแห่งชาติท่านนี้ไม่เคยมีอยู่ 

จนกระทั่งข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ปรากฏข้อเขียนไว้อาลัย From the ‘Shadow of Time’ of Rong Wongsawan (ในเงาเวลา ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์) โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (23 มี.ค. 25) ซึ่งมีภาพถ่ายขาวดำฝีมือ ‘รงค์ประกอบ 4 ชิ้น แม้จะไม่โดดเด่นมากนัก แต่มันก็มากพอที่จะบอกเราได้ว่า ช่างภาพผู้นี้มีฝีมือ มีความรู้ความเข้าใจการถ่ายภาพระดับมืออาชีพทีเดียว
 
เมื่อมาที่ พีเพิล สเปซ (People Space) แพร่งภูธร ติดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจัดแสดงผลงานจริงเพียงสิบกว่าชิ้น โดยมี ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ช่างภาพขาวดำช่วยอัดขยายอย่างดีจากฟิล์มต้นฉบับที่ ‘รงค์มอบให้ก่อนสิ้นลม ผมถึงได้เห็นว่า ‘รงค์เป็นช่างภาพที่มีฝีมือ ‘ไม่ธรรมดา’
 
ที่พูดนี่มิใช่เพราะเกรงใจในบารมีความเป็น ‘พญาอินทรีวงวรรณกรรมไทย’ แล้วผมจะต้องหาทางพิสูจน์ หรือเอออวยถึงความเป็น ‘จีเนียส’ ความเป็นอัจฉริยะของแก ผมไม่มีเหตุผลจะต้องมาประจบเจ้าของงานที่จากไปแล้ว และไม่คิดว่านี่เป็นการค้นพบเพชรในตม เพียงแต่ประวัติศาสตร์ภาพถ่ายไทยยังไม่ทำงาน นักวิชาการหรือผู้รู้ด้านนี้ยังไม่ทำหน้าที่ที่จะบันทึก วิจัย เผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้รู้ว่ามีช่างภาพไทยทำอะไรไว้บ้างในอดีต เราไม่เห็นวิวัฒนาการสืบเนื่องของการถ่ายภาพไทย ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักบรรพบุรุษของตนเอง รู้จักแต่ของฝรั่ง
 
ผมไม่ทราบว่าสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนไทย คณะนิเทศฯ คณะวารสารฯ ภาควิชาการถ่ายภาพ เทคนิคกรุงเทพ สมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย เขาสอน เขาเรียน เขาศึกษาอะไรกัน พวกเขาเอาองค์ความรู้ในสาขานี้มาจากไหน นิตยสารภาพถ่ายไทยเขียนอะไรกันอยู่ ทำไมผมไม่เคยเห็นผลงานของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ มาก่อน?
 
ในหนังสือ “เสียงพูดสุดท้าย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์” บทสัมภาษณ์โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์  ‘รงค์พูดถึงงานถ่ายภาพของตัวเองว่า เรียนรู้เองตั้งแต่อายุ 16 - 17 โดยซื้อกล้องและหนังสือโกดักมาแกะอ่าน เปิดพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยจนมือหงิก ล้างอัดขยายรูปเองจนเล็บดำเต็มไปด้วยคราบน้ำยา พออายุยี่สิบเศษ เอารูปมาขายให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เจ้าของ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” (เริ่มวางแผงในปี 2496) คุณชายชื่นชอบในฝีมือจึงซื้อผลงานเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร 
 
ชีวิตของช่างภาพ ‘รงค์ กับคุณชายคึกฤทธิ์ จึงสนิทสนมขึ้นเรื่อยๆ ได้นั่งร่วมวงเหล้า จนกลายเป็นลูกน้อง ลูกจ้างประจำ คุณชายมักสั่งหนังสือต่างประเทศมาให้พนักงานอ่าน และในนั้นก็มีนิตยสารสารคดีภาพ ‘ไลฟ์’ (LIFE) ที่ ‘รงค์ชื่นชอบ ยุคนั้นไลฟ์ของอเมริกากำลังดังและเป็นที่นิยมอย่างมาก ไม่มากไม่น้อยนิตยสารดังกล่าวคงให้อิทธิพลหรือสร้างแรงบันดาลใจในการถ่ายรูปให้กับ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์  คุณชายคึกฤทธิ์จึงชมว่า “ไอ้ปุ๊ถ่ายรูปด้วยความคิดแบบฝรั่ง”

 
ผมก็ไม่แน่ใจว่า “ความคิดแบบฝรั่ง” ของอาจารย์คึกฤทธิ์หมายถึงอะไร จะหมายถึงการรู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ มีความคิดเห็นเป็นของตนเอง ชอบทำอะไรแตกต่างจากคนอื่น ไม่ชอบตามก้นใคร อันเป็นนิสัยของฝรั่งอย่างที่เรารู้กัน ซึ่งตรงข้ามกับพี่ไทยที่ไม่ชอบคิด ไม่ชอบแสดงความเห็น และชอบทำตามคนอื่น ถ้าเป็นในความหมายนี้ผมเห็นว่ามีส่วนจริงไม่น้อย
 
ยกตัวอย่างภาพถ่ายขาวดำ ชุด “สะพานพุทธ” (ไม่ใครทราบว่าภาพชุดนี้ถ่ายเมื่อไหร่ กระทั่งได้คุณสันติ เศวตวิมล แห่งแม่ช้อยนางรำ ช่วยยืนยันว่าน่าจะเป็นปี พ.ศ.2501 เพราะเป็นปีที่สะพานพุทธปิดซ่อมครั้งใหญ่) ภาพชุดนี้โดดเด่น เตะตา ทั้งเนื้อหา องค์ประกอบภาพ มุมกล้อง แสง-เงา เรียกว่าครบรส ดูทันสมัย ไม่เชยเลย ‘รงค์ซึ่งน่าจะอยู่ในวัย 26 ปี ไปที่สะพานแห่งนี้ตั้งแต่เช้า (เหตุที่ไม่ใช่เย็นเพราะเมื่อยืนบนสะพานและหันหน้าไปทางฝั่งธนฯ พระอาทิตย์ยามเช้าจะสาดแสงเข้าทางด้านซ้ายมือ) 
 
‘รงค์ถ่ายภาพวิถีชีวิตคนฝั่งธนฯ ที่กำลังเดินข้ามสะพานมาฝั่งพระนครเพื่อทำงาน การจัดองค์ประกอบภาพ ทำได้น่าสนใจ ‘รงค์ยืนถ่ายบนที่สูง ให้ราวสะพานและเสาไม้ไผ่นั่งร้านแบ่งภาพออกเป็นสองส่วน ฝั่งซ้ายจะเห็นผู้คนแต่งตัวสะอาดสะอ้าน เสื้อขาว เสื้อกากี ชุดนักเรียน หวีผมเรียบแปร้ บ้างเดินยิ้ม บ้างเดินหน้าเคร่งเครียด เป็นแถวยาวในทิศทางเดียวโดยหันหน้าเข้าหากล้อง เมื่อมีโครงเหล็กสะพานพุทธขนาดใหญ่ขนาบปิดทางด้านซ้ายมือของภาพ ทำให้ดูแล้วคล้ายพวกเขายืนเป็นตุ๊กตาบนสายพานเครื่องจักรโรงงาน ขณะที่ฝั่งบนขวาในระยะไกลเราเห็นปล่องควันโรงไฟฟ้าวัดเลียบพ่นควันดำโขมง ส่วนฝั่งขวาล่าง ในเงามืด มีกลุ่มผู้โดยสารเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยากำลังเดินขึ้นจากท่า 
 
จะว่าไปแล้วภาพนี้เหมาะที่จะเป็นภาพโฆษณาชวนเชื่อที่ทรงพลัง สำหรับประเทศไทยซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม (เพราะหลังจากนั้นอีกสามปีไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก อันนำไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม)
 
ณ สะพานพุทธแห่งนี้ ‘รงค์ใช้เวลาตลอดทั้งเช้าเพื่อถ่ายภาพที่น่าสนใจอีกหลายภาพ ในชุดเดียวกัน ‘รงค์เปลี่ยนมุมกล้องจากที่สูงมาสู่มุมต่ำ เหมือนกับการทดลองหรืออยากฉีกหนีความน่าเบื่อจากมุมกล้องปกติระดับสายตามนุษย์ทั่วไป ‘รงค์ถือกล้องต่ำระดับหัวเข่า หรือต่ำกว่านั้น เขาอาจนั่งลงกับพื้นเพื่อถือกล้องเลนซ์คู่ ยี่ห้อ โรล์ไลเฟล็กซ์ (Rolleiflex) กล้องรุ่นนี้ใช้ฟิล์มขนาดกลางซึ่งผู้ถ่ายต้องมีความชำนาญจึงจะจับภาพเคลื่อนไหวได้อย่างใจ ช่องมองภาพจะให้ภาพกลับซ้ายเป็นขวา อีกทั้งการปรับโฟกัสไม่ง่ายแบบกล้องเลนซ์เดียวขนาด 35 มม. ฟิล์มมีราคาแพงกว่า ม้วนหนึ่งถ่ายได้เพียง 12 รูป แต่ข้อดีคือเวลาจะถ่ายภาพ ช่างภาพจะต้องก้มหัวลงดูช่องมองภาพที่อยู่ด้านบนของกล้อง ทำให้ใบหน้าและสายตาของช่างภาพไม่เผชิญหน้าผู้ถูกถ่ายภาพโดยตรง ผู้เป็นแบบจึงอาจจะไม่รู้สึกตัว หรือไม่รู้สึกถูกคุกคามจากช่างภาพ
 
ภาพที่ช่างไฟคนหนึ่งถือสว่านเดินผ่านหน้ากล้อง จังหวะนั้นเองระยะหลังมีชายคนหนึ่งซึ่งเดินไปในทิศทางซ้ายเช่นเดียวกับช่างไฟและคนอื่น ชายคนดังกล่าวหันหน้ามามองกล้องด้วยสายตาไม่เป็นมิตรเท่าไหร่ ขณะที่ตัวเขาเองเข้าไปอยู่ในวงสายไฟที่ช่างถืออยู่ ภาพนี้มีองค์ประกอบภาพแปลกประหลาด แสง-เงาเข้มข้น ขณะที่โครงสร้างเหล็กและไม้ไผ่ของสะพานแบ่งภาพเป็นตาราง เป็นส่วนๆ แต่ ‘รงค์ก็ทำลายกรอบตารางที่นิ่งด้วยการใช้เส้นทแยงจากการเคลื่อนไหวอันรีบเร่งของร่างกายมนุษย์ เหตุที่ชายคนดังกล่าวหันมามอง ‘รงค์ และผู้ดูภาพอย่างไม่เป็นมิตรจึงทำให้เราอยากกลับไปมองมันอีกครั้ง
 
อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ ‘รงค์ถ่ายภาพคนจากด้านหลัง ไม่เห็นใบหน้าซึ่งเข้าใจว่าช่างภาพในยุคนั้นคงไม่นิยมหรือไม่กล้าทำกัน เขาแหวกกฏด้วยการถ่ายภาพแม่ค้าหาบเร่, เด็กหญิงเดินตีนเปล่า และผู้หญิงสวมผ้าถุงหิ้วปิ่นโตห้าชั้นจากข้างหลัง ‘รงค์คงต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ชมภาพเติมจินตนาการของตนเองเข้าไป เมื่อดูภาพเหล่านี้ต่อเนื่องกัน จะรู้สึกว่าพวกเขากำลังเดินจากเราไปเหมือนคนต้องมนต์คำสาบ ไม่มีใครเดินสวนทางกลับมาเลย พวกเขาเดินกันอย่างเร่งรีบ เดินไม่หยุด ไม่แม้แต่จะเหลียวหลังมามอง พวกเขาเดินไปไหนกัน เราอยากตะโกนให้หยุดแต่เสียงตะโกนนั้นจุกอยู่ในลำคอ เพราะรู้ว่าเราอยู่กันต่างมิติ ต่างยุคสมัย
 
หรือนี่คือ เงาเวลา ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์
 
………………………………….
 
คำบรรยายภาพ1/ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (ไม่ทราบปีถ่าย)  ภาพถ่ายขาว-ดำ โดย ‘รงค์ วงษสวรรค์
2/สะพานพุทธ 2501 ภาพถ่ายขาว-ดำ โดย ‘รงค์ วงษสวรรค์


ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, หน้าศิลปวัฒนธรรม ฉบับวันที่ 22 - 28 พ.ค. 2552
 
© 2012 - 2025 Street Photo Thailand