Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
Snapshot?
Posted by Akkara Naktamna - Apr 25, 2013 12:13
ข้อสงสัยอย่างหนึ่งเกิดขึ้นกับผมเมื่อได้ไปอ่านการพูดคุยกันใน Facebook ของช่างภาพรุ่นใหญ่สองคนที่ถกกันถึงเรื่องแนวทางการถ่ายภาพว่า ถ้าอย่างนี้เรียกว่าสตรีท แล้วอย่างนั้นจะเรียกว่าอะไร การพูดคุยเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ โชคดีช่างภาพรุ่นใหญ่คนที่ผมรู้จัก สามารถควบคุมอารมณ์ และอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล จนเรื่องราวไม่ได้บานปลายออกไป ภายหลังได้ไปเจอช่างภาพรุ่นพี่ท่านนี้ก็ได้คุยกัน พี่เขาเล่าว่าหลังจากนั้นก็ยังคุยกันได้อย่างปกติ แถมชวนกันไปเที่ยวอีกต่างหาก ทำให้ได้ข้อคิดประการหนึ่งว่า การเห็นแย้งกันเรื่องแนวคิด กับเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว จริงๆมันสามารถแยกแยะได้ เหมือนการทำงานกับชีวิตส่วนตัว หากนำมาปะปนกันก็จะเกิดปัญหาตามมาไม่จบสิ้นเหมือนสถานการณ์ในบางประเทศ 
 
ในการพูดคุยกันเรื่องช่างภาพสองท่านนั้นมีการยกอ้างถึงคำๆหนึ่งคือ Snapshot คำนี้มีความหมายที่รู้กันในวงการถ่ายภาพว่า คือการถ่ายภาพอย่างรวดเร็ว ไม่ปราณีต กล้องบ้างยี่ห้อก็ใช้คำว่า Snap มาไว้ในชื่อรุ่นบ้างก็มี ซึ่งบ่งบอกว่า กล้องของเขาสามารถถ่ายได้อย่างรวดเร็ว ถึงไม่ต้องตั้งกล้องมากมายก็ถ่ายภาพให้สวยได้ ข้อสงสัยของผมคือ เราจะแบงแยกได้อย่างไรว่า อะไรคือ Street อะไรคือ Snapshot เพราะหากเทียบกันดูแล้ว ลักษณะภาพถ่ายสองประเภทนี้ใกล้เคียงกันมาก จนบางครั้งยากที่จะจำแนกได้ว่าภาพบางภาพเป็น Street หรือ Snapshot กันแน่


Nils Jorgensen
 
การถ่ายภาพแบบ Snapshot เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 17 George Eastman ผู้ก่อตั้งบริษัท Kodak เปลี่ยนแนวคิดของคนในยุคนั้นที่ว่าการถ่ายภาพเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องมีความรู้เรื่องการถ่ายภาพ การล้างอัดภาพ และมีต้นทุนสูง ให้เป็นว่า "ใครๆก็สามารถถ่ายภาพได้ด้วยตัวเอง" Kodak อาจไม่ใช่บริษัทแรกที่ขายกล้องที่ถือถ่ายได้ (Handheld) และไม่ใช่บริษัทที่คิดค้นการใช้ฟิล์ม แต่ Kodak เป็นผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพรายแรกที่ "บริการครบวงจร" สำหรับช่างภาพสมัครเล่น โดย Kodak จะขายกล้องพร้อมฟิล์มที่ถ่ายได้ 100 ภาพ เมื่อถ่ายหมดแล้ว ลูกค้าก็จะส่งกล้องกลับมายังโรงงานเพื่ออัดภาพ และลูกค้าก็จะได้ภาพถ่ายที่อัดลงกระดาษ พร้อมฟิล์มม้วนใหม่ที่บรรจุไว้ในกล้องพร้อมใช้งาน เรามีหน้าที่กดชัตเตอร์ นอกนั้น Kodak ทำให้หมด ตามสโลแกนที่ว่า "You Press the Button, We Do the Rest." ถึงอย่างไรก็ตาม กล้องที่ Kodak ผลิตออกมาขายก็ยังแพงอยู่ดี (ราวๆ 5 ปอนด์) คนทั่วไปยังไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ George Eastman จึงสั่งให้ออกแบบกล้องที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด แต่ยังสามารถถ่ายภาพที่ดีออกมาได้


ในปี 1900 Kodak ออกกล้องที่มีชื่อว่า Brownie ออกมา รูปร่างจะคล้ายๆกระเป๋าสะพายข้างของสาวยาคูลท์แต่มีขนาดเล็กกว่า และด้วยราคา 25 เพนนี (ราวๆ 11 บาท สมัยนั้นค่าเงินคงมากกว่าตอนนี้) ทำให้กล้อง Brownie ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ใครๆก็สามารถมีกล้องถ่ายภาพของตัวเองได้ และเมื่อใครๆก็ถ่ายภาพได้ ภาพถ่ายส่วนมากที่ออกมาในยุคนี้จึงเป็นภาพถ่ายที่ผลิตขึ้นโดยมือสมัครเล่น ที่ถ่ายทอดชีวิตประจำวันของตัวเอง (Daily Life) ทั้งงานวันเกิด ปาร์ตี้ ภาพกิจกรรมของครอบครัว ภาพตอนไปเที่ยว ฯลฯ ลักษณะภาพจะไม่สมบูรณ์แบบ เช่น หลุดโฟกัส องค์ประกอบผิดพลาด สว่างหรือมืดเกินไป ความไม่สมบูรณ์แบบนี้เองก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของการถ่ายภาพแนวนี้ไป เราจึงอาจถือได้ว่าการถ่ายภาพแบบ Snapshot มีที่มาจากการกำเนิดของกล้อง Brownie และขับเคลื่อนโดยเหล่าช่างภาพสมัครเล่นก็ไม่ผิดนัก 
 
Snapshot ไม่ได้มาจากช่างภาพสมัครเล่นเท่านั้น แต่ยังเกิดจากความเคลื่อนไหวของวงการถ่ายภาพศิลปะ (Fine Art Photography) ของอเมริกาในช่วงปี 1963 ในชื่อ Snapshot Aesthetic ที่ถ่ายทอดถึงเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในทุกๆวัน ออกมาทางภาพถ่ายที่มีรูปแบบคล้ายกับ Snapshot ที่เกิดจากมือสมัครเล่น คือ หลุดโฟกัส เบลอ มืดไป สว่างไป เหมือนเกิดจากความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่ประสาของมือสมัครเล่น แต่หากทั้งหมดได้ผ่านกระบวนการคิด และไตร่ตรองของช่างภาพมาแล้วอย่างดี กระแสความนิยมใน Snapshot Aesthetic ในช่วงปลายยุค 70 ถึงกลางยุค 80 ได้รับการสนับสนุนจาก John Szarkowski หัวหน้าแผนกภาพถ่ายของ MoMA (Museum of Modern Art) ในสมัยนั้น และช่างภาพที่ถ่ายภาพสไตล์ Snapshot Aesthetic ได้โดดเด่น ได้แก่ Garry Winogrand, Martin Parr, Diane Arbus, Lee Friedlander 

 
Left: Akkara Naktamna, Right: Elliott Erwitt
 
ต้องบอกตามตรงว่าปัจจุบันนี้คำว่า Snapshot กับ Street มันเหมือนมีขอบเขตที่ไม่แน่นอน ยากที่จะแบ่งแยกออกมาอย่างเด็ดขาด ดูอย่างรายชื่อช่างภาพที่ใช้ถ่ายภาพสไตล์ Snapshot ล้วนแล้วแต่เป็นช่างภาพ Street กันทั้งนั้น มีเพียงขีดกั้นจางๆที่ว่า Street Photography จะถ่ายทอดเรื่องราวของ "สังคม" รอบตัว มักจะเป็นภาพที่เกิดบนพื้นที่สาธารณะที่ใครก็เข้าถึงได้ แต่ Snapshot มีความเป็น "ส่วนตัว" มากกว่า

จุดมุ่งหมายดั้งเดิมของ Snapshot คือ การมีกล้องไว้ถ่ายภาพเรื่องราวของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ภาพ Snap ที่ได้จึงเป็นไปได้ทั้งภาพข้างนอก (Public) และภาพที่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว (Private) และอาจจะกล่าวได้ถึงกับว่า เราจะ Snap อะไรก็ได้ทั้งนั้น โดยมีข้อแม้ที่ว่า "ต้องเร็ว และไม่ปราณีต" ภาพที่ออกมาจึงดูเหมือนถ่ายแบบไม่ตั้งใจ (แต่จริงๆจงใจ) ซึ่งภาพ Street Photography ก็มีลักษณะนี้เช่นกัน อาจมีคนจำแนกว่า Street Photography ต้องมี Decisive Moment หรือจังหวะที่โดดเด่นอยู่ในภาพเสมอ และใช้ข้อกำหนดนี้แบ่งว่าภาพไหนคือ Snap ภาพไหนคือ Street ซึ่งแนวคิดนี้ผมคิดว่ามันดู "ตู่" ไปสักหน่อย "Decisive Moment ไม่ใช่ Street Photography" Decisive Moment เป็นเพียงวิธีการหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด 
 
เรื่องราวของ Street และ Snapshot ยังต้องมีเรื่องที่ต้องคุยกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีใครผิดถูก เหมือนงานศิลปะที่ไม่อาจมีเกณฑ์ใดๆมาวัดได้ว่าสวย-ไม่สวย ดี-ไม่ดี ขึ้นอยู่กับความชอบ และความเห็นส่วนตัวของคนนั้นๆ ภาพถ่ายไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร ถ้าหากถ่ายออกมาได้ยอดเยี่ยมคงไม่มีใครสนหรอกว่าเป็น Street หรือ Snapshot

มันมีแต่คำว่า "โอ้โห" เท่านั้นล่ะครับ :)
© 2012 - 2024 Street Photo Thailand