Eugène Atget
ถ้ามีใครได้เคยดูหนังเรื่อง The Legend of 1900 หรือชื่อไทยว่า ตำนานนาย 1900 หัวใจรักจากท้องทะเล คงจะรู้จักพระเอกของหนังที่ชื่อ นาย 1900 อัจฉริยะด้านการเล่นเปียนโน ที่ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เคยลงจากเรือมาเหยียบพื้นดินเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่นาย 1900 เป็นเพียงตัวละครสมมติที่แต่งขึ้นมาเท่านั้น จริงๆมีช่างภาพคนหนึ่งที่เคยอยู่บนเรือเช่นเดียวกัน แตกต่างกันที่เขาไม่ได้เกิดบนเรือ และตัดสินใจลงจากเรือ มาเป็นช่างภาพสตรีทคนสำคัญของโลก และมีอธิพลทางความคิดให้กับช่างภาพหลายๆคน อาทิ Robert Doisneau, Berenice Abbott, Lee Friedlander, Walker Evans ฯลฯ คนๆนั้นคือ Eugène Atget (ยูจีน แอตเจต)
Eugène Atget เกิดเมื่อปี 1857 (พ.ศ. 2400 สมัยรัชกาลที่ 4) ที่ Libourne หมู่บ้านทำไวน์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส หลังจากพ่อและแม่ของเขาตายเมื่อเขาอายุได้ 7 ขวบ Atget ไปอาศัยอยู่กับลุงของเขาระยะหนึ่ง ก่อนมุ่งหน้าสู่ทะเลไปใช้ชีวิตกะลาสี ทำงานอยู่บนเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ ชีวิตที่เปรียบเหมือนนาย 1900 เริ่มต้นจากตรงนั้น ในขณะที่นาย 1900 ยอมตายไปพร้อมกับเรือ แต่ไม่ใช่กับ Atget เมื่อเขาอายุ 20 ต้นๆ เขาตัดสินใจลงจากเรือ ไม่มีใครรู้เหตุผลว่าเพราะอะไร แต่หลังจากที่เขาลงจากเรือแล้ว Atget ไปสมัครเข้าเรียนที่ Conservatoire National Supérieur d’Art Dramatique โรงเรียนการแสดงที่เก่าแก่ และทรงเกียรติแห่งหนึ่งในยุโรป
Atget เรียนการแสดงเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะเข้าทำงานที่คณะละครแห่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เขามักจะได้รับบทรอง และบ่อยครั้งได้แสดงเป็นตัวร้าย ตลอดเกือบ 20 ปีที่เป็นอย่างนี้ แม้ว่าจะมีคนบอกว่าเขาแสดงดี แต่ Atget ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จเรื่องการแสดงเลย จนอายุล่วงเลยมาถึง 40 ปี Atget จึงเข้าใจ และคิดได้ว่าเขาคงไม่มีอนาคตกับการแสดงแน่ๆแล้ว รวมถึงอาการเส้นเสียงอักเสบเนื่องจากการใช้เสียงในการแสดงอย่างต่อเนื่อง Atget บอกลาเวทีออกมาเป็นช่างเขียนภาพเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่นาน Atget ก็หันไปหาการถ่ายภาพ
เป็นที่เข้าใจกันได้ ตอนที่ Atget เริ่มถ่ายภาพ เขาไม่ได้มุ่งหวังที่จะทำให้ภาพถ่ายของเขาเป็นงานศิลปะ เขาถ่ายภาพเพื่อประทังชีวิต เขาตั้งบริษัทเล็กๆที่ชื่อว่า Documents pour Artistes ถ้าจะเปรียบเทียบกับสมัยนี้ บริษัทของ Atget ก็คือ Stock Photos ดีๆนั่นเอง ในสมัยนั้นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการวาดภาพ เช่น จิตรกร คนออกแบบเวที มัณฑณากร จะต้องพึ่งภาพถ่ายเป็นต้นแบบ คนเหล่านี้เป็นลูกค้าของ Atget ภาพถ่ายของเขามักเป็นภาพของสถานที่ธรรมดาสามัญ ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว หรือสิ่งก่อสร้างชื่อดัง มีเพียงถนน ตรอกเล็กๆ ท่าเรือ เป็นสถานที่ที่พบเห็นอยู่ได้ทั่วไปตามที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์อันเงียบเชียบในย่านเมืองเก่าของปารีส ซึ่งส่วนใหญ่นำมาใช้ในการแสดงละคร ลักษณะภาพของ Atget จะมีความเป็น Perspective ที่ลาดเอียงโน้มเข้าหานักแสดงที่อยู่ตรงกลางเวที และเป็นภาพที่นิ่งงัน เสมือนถูกจัดไว้เพื่อเป็นฉากของการแสดงโดยเฉพาะ เคยมีคนจ้างให้เขาถ่ายภาพบุคคลบ้างเหมือนกัน แต่งานของ Atget ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
(Left: Man Ray, Right: Berenice Abbott)
จะว่าไปบริษัทเล็กๆของเขาก็ไม่ได้เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จเรื่องการเงินเท่าใดนัก 30 ปีต่อมาเขาก็ยังมีรายได้พอประมาณที่จะเลี้ยงดูครอบครัว และอยู่ในอาร์พาร์ทเมนต์ระดับปานกลางเท่านั้น เพื่อนบ้านของเขาเป็นศิลปินยากจนซะเป็นส่วนใหญ่ ในที่นี้มี Man Ray (แมน เรย์ : 1890 - 1976) ช่างภาพแนว Surrealist รวมอยู่ด้วย ว่าตามตรง Atget ไม่ได้สนใจงานของ Man Ray หรือทฤษฎี Surrealism เลยแม้แต่น้อย ยิ่งกว่านั้น Atget ไม่คิดว่าตัวเขาเป็นศิลปิน หรือภาพของเขาจะเป็นงานศิลปะอะไรได้เลยด้วยซ้ำ “...These are simply documents I make,”
ด้วยอายุที่มากขึ้น Atget เริ่มเป็นคนที่ปลีกตัวจากสังคม และไม่สุงสิงกับใคร กิจวัตรประจำวันของเขาเป็นอะไรที่ดูผิดปกติ เช่น เขาจะไม่กินอย่างอื่นเลยนอกจาก ขนมปัง นม และน้ำตาล หรือการที่ Atget ลากกล้องขนาดใหญ่ (Large Format Camera) และหนักของเขาออกจากอาร์พาร์ตเมนต์ ไปด้วยระยะทางหลายไมล์เพื่อถ่ายภาพเพียงไม่กี่ภาพ แล้วก็ลากมันกลับบ้าน ในตอนที่ Atget เสียชีวิตเมื่อปี 1927 เขาเก็บรวบรวมภาพถ่ายได้ประมาณหนึ่งหมื่นภาพ ในสมัยนี้อาจเป็นจำนวนที่ดูไม่มากนัก แต่ต้องไม่ลืมว่า Atget ใช้กล้องขนาดใหญ่ เก่า และหนักมาก รวมถึงเขาไม่ได้ใช้ Film เซลลูลอยด์เหมือนสมัยนี้ แต่ใช้แผ่นกระจก (Glass Plates) แทน จริงๆกล้องของ Arget ก็จัดว่าเก่ามากแล้วในสมัยของเขา แต่ Atget ก็ยังใช้มัน และใช้มาตลอด 30 ปี Man Ray เคยจะให้ยืม Rolleiflex ที่ใหม่และเบากว่า แต่ Atget ยืนยันที่จะใช้กล้อง รวมทั้งเทคนิคดั้งเดิม
2 ปีก่อนที่ Atget จะเสียชีวิต งานของเขาได้รับการสนใจจาก Berenice Abbott (เบอนิส แอบบอต : 1898 - 1991) ผู้ช่วยของ Man Ray เธอสนใจเพราะงานของเขาจัดได้ว่ามีแนวทางของ ลัทธิคิวบิสม์ (Cubism) และลัทธิเหนือจริง (Surrealism) Abbott เอาภาพของเขาให้ Man Ray ดู ซึ่งเขาก็สนใจงานของ Atget มาก และได้ขอภาพบางภาพจาก Atget เพื่อมาขึ้นปกนิตยสาร La Revolution Surrealíste
หลังจากที่ Atget เสียชีวิตแล้ว Abbott จัดหาเงินทุนมาเพื่อซื้องานพิมพ์ และเนกกาทีฟส่วนใหญ่ของ Atget เอาไว้เอง แม้ว่าเธอจะพยายามเผยแพร่งานของ Atget แต่ก็งานของ Atget ก็ยังได้รับการสนใจน้อยมากจากวงการศิลปะตลอด 4 ทศวรรษถัดมา ต่อมา Abbott พยายามโน้มน้าว MoMA (Museum of Modern Art) ในนิวยอร์ค เพื่อให้ซื้อภาพ และเนกกาทีฟของ Atget แล้วก็ประสบความสำเร็จ ในปี 1968 MoMA เริ่มจัดแสดงผลงานภาพถ่ายของเขาออกมาเป็นซีรีย์ และได้ออกหนังสือมา 4 เล่ม ตามภาพที่จัดแสดงในนิทรรศการ นับตั้งแต่นั้น Eugène Atget ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในช่างภาพคนสำคัญของโลก ที่บุกเบิกการถ่ายภาพให้เทียบชั้นได้กับศิลปะแขนงต่างๆ นับว่า Berenice Abbott มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันงานของ Eugène Atget ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
หากดูเผินๆภาพของ Atget อาจเป็นแค่เพียงภาพที่แสดงพื้นที่อ้างว้างของเขตเมืองเก่าในปารีสสมัยนั้น แม้แต่ตัว Atget เองก็มองงานของเขาเป็นได้แค่ "ชิ้นงานเอกสาร" ที่ไม่สลักสำคัญ สร้างเพียงเพื่อนำไปให้คนอื่นๆผลิตงานต่อ แต่นักศิลปะทั้งหลายกลับมองเห็นว่า หลายๆสิ่งในภาพของ Atget มันสามารถพรรณนาสิ่งที่เติบโตอยู่ในความคิด รวมถึงศักยภาพที่แฝงเร้นในทางศิลปะ โดยที่แม้แต่ตัว Atget เองอาจไม่เคยรู้ และไม่เคยยอมรับ ดังเช่น ช่วงหนึ่ง หลายๆภาพของ Atget ที่มักจะใส่ต้นไม้หนึ่งต้นที่ดูโดดเดี่ยวในภาพเสมอ ซึ่งนั่นอาจเป็นการแสดงสภาวะของจิตใจบางอย่างของ Atget ที่กำลังสำแดงตัว และแผ่ขยายกินขอบเขตออกมา จนคนภายนอกสามารถรับรู้ได้
กรณีของ Eugène Atget อาจเป็นข้อคิดให้เราได้ว่า บางครั้งเราไม่ต้องแสดงออกอะไรมากมายว่ากำลังสร้างงานศิลปะเพื่อค้ำชูโลก ไม่ต้องปรุงแต่ง หาดอกไม้ หรือป้ายไฟมาติด ถ้างานนั้นๆดีจริง มันจะประกาศตัวมันเองว่ามันเป็นอย่างไร มีคุณค่าพอหรือไม่ ดังคำกล่าวของโน้สอุดมที่บอกว่า
"ความสามารถที่แท้จริง เหมือนตะปูที่โผล่พ้นไม้ สักวันต้องมีคนเห็น ต้องมีคนเดินมาสะดุดมันจนได้"
by Akkara Naktamna
|