ภาพถ่ายขอทานในบริบทของการถ่ายภาพข้างถนน
จากที่ได้ดูภาพที่หลายๆคนโพสลงไปใน Facebook ของการถ่าย Street Photography หลายๆกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะแค่ที่ Street Photo Thailand เท่านั้น มักจะเจอภาพของ “ขอทาน” อยู่เสมอ ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงความรันทด สลดหดหู่ น่าสังเวชใจ และมักจะเป็นภาพขาว-ดำ ที่บีบคั้นอารมณ์ให้มีมากขึ้นไปอีก
ไม่นานที่ผ่านมาทางกลุ่ม Street Photo Thailand ได้เริ่มออกกฏใหม่ ไม่ให้ลงภาพเหล่านี้ เนื่องจากจะไม่น่าดูแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำความต้อยต่ำลำบากของเขาเหล่านั้นให้มากขึ้นไปอีก แต่ก็ยังไม่ประสบผลเท่าใดนัก เนื่องจากหลายๆสาเหตุประกอบกัน สาเหตุหลักๆคือ หลายคนยังคิดว่า Street Photography กับ “ขอทาน” มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในบางบริบท และเมื่อนึกถึงการถ่าย Street ต้องนึกถึงเหล่าขอทานข้างถนนเป็นอันดับต้นๆ
ไม่แปลกที่หลายคนคิดอย่างนั้น เพราะแรกๆผู้เขียนเองก็คิดในทำนองนี้เช่นกัน ช่วงการค้นหาตัวตนในการถ่ายภาพ เราทุกคนมักจะถ่ายทุกอย่างที่ขวางหน้า เห็นอะไรผ่านหน้า แปลกแยก แตกต่าง เราจะจับลงกล้องกันซะทั้งหมด ยิ่งถ้าเดินถามริมท้องถนนแล้ว ขอทานมักจะเป็นเหมือนสิ่งแปลกปลอมที่ดูโดดออกมาจากสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนในอีกระดับชั้นหนึ่ง นั่งกับพื้น แต่งตัวมอมแมม บางคนซ่อนแขนขา บางคนนอนลากตัวเองไปกับพื้น เรียกคะแนนสงสารจากผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา ด้วยความสัตย์จริง ผมเคยเห็นคนที่นอนกับพื้นเหล่านั้นลุกเดิน และขึ้นรถเมล์ไป แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น…ประเด็นจริงๆคือ ช่างภาพที่พบเห็นเหตุการณ์ สมควรที่จะเก็บและบันทึกภาพเหล่านั้นมาอวดกันหรือเปล่า?
ตัวผู้เขียนจัดว่าเป็นนักถ่ายภาพขอทานมือฉมังมาก่อน เรียกว่าถ้ามีกล้องในมือ และบังเอิญมีขอทานอยู่แถวนั้น ต้องลงมือถ่ายภาพเอากลับบ้านเสมอ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร แต่อนุมานเอาว่า ผู้เขียนได้รับอธิพลมาจากภาพถ่ายบางชนิดที่ได้ดูจากอินเตอร์เนตบ้าง สารคดีในทีวีบ้าง หรือในหนังสือภาพบ้าง ที่มักจะเป็นภาพคนจน คนด้อยโอกาส ที่ถูกโพรเซสให้ดู “ขลัง” แสงเงาดูมีมิติ โดดเด่น หากนึกภาพไม่ออกให้ลองค้นหาใน Google ด้วยคำว่า Sebastião Salgado อดีตช่างภาพ Magnum ที่งานของเขาจัดเป็นภาพถ่ายสารคดี (Documentary) ที่มีความแตกต่างในเรื่องการโพรเซสภาพ และภาพอีกประเภทคือ ภาพข่าวสงคราม (War Photography) มีช่างภาพคนสำคัญคือ James Natchway ถ้าใครได้ดูภาพของเขา จะเหมือนกับมีแรงกดดันบีบคั้นออกมาจากภาพถ่าย ซึ่งนั่นเองทำให้ผู้เขียนคาดเดาว่า จะเป็นเหตุให้ถ่ายภาพขอทานในช่วงแรกๆของการทำงาน และสิ่งเหล่านั้นทำให้ตัวเองรู้สึก (ไปเอง) ว่าได้ทำงานคล้ายคลึงกับช่างภาพที่เราชื่นชอบ
หลังจากนั้น มีรุ่นพี่ที่ทำงานพูดลอยๆออกมาโดยที่ไม่ทราบว่าพูดเล่นหรือพูดเอาจริงว่า “ไอ้นี่ชอบถ่ายแต่คนแขนขาขาด” อีกคนหนึ่งบอกว่าผู้เขียนเป็น “ช่างภาพคนค้นคน” (ตอนนั้นรายการคนค้นคนจะเสนอเรื่องราวของคนที่ด้อยโอกาสอยู่บ่อยๆ) ทำให้ผู้เขียนฉุกคิดได้ว่า การถ่ายภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่ใช่ตัวตนของเราหรือเปล่า ประจวบกับได้ส่ง Portfolio ที่ติดภาพขอทานไปให้ช่างภาพท่านหนึ่งดู ช่างภาพท่านนั้นได้ให้คำแนะนำที่ดีว่า
ถ้าจะถ่ายขอทาน ถ่ายสองสามใบมันไม่ได้อะไร จะต้องศึกษา ค้นคว้าแง่มุมต่างๆว่า ขอทานคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ส่งผลกระทบอะไรต่อสังคม และเราสามารถส่งผ่านคำถามสำคัญๆเหล่านี้ออกมาจากผลงานภาพถ่ายเพื่อให้สังคมรับรู้ได้หรือไม่
ผู้เขียนกลับตัวได้จากตรงนั้น และไม่ได้ถ่ายขอทานอีกเลย เว้นแต่จะมีแง่มุมที่น่าสนใจที่ไม่ได้เน้นเรื่องสภาพชีวิตที่น่าสงสาร เพราะนอกจากจะเป็นการ “ผลิตซ้ำ” งานของคนอื่นๆแล้ว ยังเหมือนเราไปเอาเปรียบ และตอกย้ำความด้อยโอกาสของเขาเข้าไปอีก อันที่จริงภาพถ่ายขอทานถือเป็นส่วนหนึ่งของ Street Photography แต่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆที่ถูกยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลงกลบทับไปซะเกือบทั้งหมด ไม่หลงเหลือความน่าสนใจอีกต่อไป
การขโมยเสี้ยววินาทีหนึ่งๆ เป็นหัวใจสำคัญของ Street Photography
แต่การสร้างงาน ก็ไม่สมควรขโมยเสี้ยววินาทีอันยากแค้นของใครอีกคนเช่นกัน
จาก http://akkaranaktamna.tumblr.com/
|