Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
Saul Leiter
Posted by Akkara Naktamna - Jul 22, 2013 10:23


ช่วงกลางปีที่ผ่านมา in-public.com กลุ่มของช่างภาพแนว Street Photography ที่โด่งดังในระดับนานาชาติ ได้แจ้งว่า Saul Leiter (ซอลล์ เลเตอร์) ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มในส่วนของ Master สร้างความตื่นเต้น และประหลาดใจให้กับวงการ Street Photography ไม่น้อย

ผู้ที่สนใจ Street Photography ในเมืองไทยอาจไม่ค่อยได้ยินชื่อช่างภาพ Street คนนี้เท่าไหร่ ทั้งๆที่ช่างภาพคนนี้จัดว่าเป็นหนึ่งในช่างภาพ New York School (คนละอย่างกับ New York School of Abstract Expressionism ที่มี Jackson Pollock เป็นศูนย์กลาง) กลุ่มของช่างภาพหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ภาพถ่ายแนว Street Photography ในนิวยอร์คช่วงปี 1936 - 1963 มีช่างภาพร่วมอุดมการณ์ อาทิ Robert Frank, Diane Arbus, Weegee, Garry Winogrand, Richard Avedon, Alexey Brodovitch ฯลฯ ซึ่งกลุ่ม New York School จัดได้ว่าเป็นต้นสายของการถ่ายภาพ Street Photography สมัยใหม่ที่ยังคงมีอธิพลต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ Saul Leiter แม้ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังในการถ่ายภาพ Street เหมือนช่างภาพคนอื่นๆในกลุ่ม แต่ผลงานของเขาก็นับว่าแตกต่าง และ "ทวนกระแส" กรรมวิธีการสร้างงานในสมัยนั้นอย่างสิ้นเชิง

  
 
Saul Leiter เกิดที่พิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พ่อของเขาเป็นแรบไบที่มีชื่อเสียง เป็นเรื่องธรรมดาที่เขาน่าจะเดินตามรอยพ่อของเขา แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น Leiter เลิกเรียนการเป็นแรบไบที่วิทยาลัย แล้วย้ายไปนิวยอร์คเพื่อเรียนศิลปะ โชคดีของเขาที่ได้พบกับ Richard Pousette-Dart ศิลปินแนว Abstract Expressionism และช่างภาพระดับตำนานอย่าง W. Eugene Smith ที่กระตุ้นให้เขาได้เรียนรู้ศิลปะอีกแขนงหนึ่งนั่นคือศิลปะการถ่ายภาพ 
 
เขาใช้ Leica 35mm ในการเริ่มทดลองถ่ายภาพ โดยภาพถ่ายแรกๆของเขาเป็นภาพขาวดำ จนในปี 1946 ภาพสีเริ่มมีบทบาทในวงการถ่ายภาพที่ก่อนหน้านั้นโดนยึดครองด้วยภาพขาวดำมาตลอด ถึงกระนั้นก็ดี การถ่ายภาพสีก็ยังมีต้นทุนที่สูงกว่าการถ่ายภาพขาวดำ รวมถึงมีเทคนิคในห้องมืดที่ซับซ้อน ทำให้ช่างภาพมืออาชีพหลายคนปฏิเสธการถ่ายภาพสี แต่สำหรับ Saul Leiter นักเรียนศิลปะ ภาพถ่ายสีแสดงอารมณ์ได้ซับซ้อนหลากหลายมิติ ไม่ต่างจากภาพเขียนแนว Abstract Expressionism ที่เขาได้ร่ำเรียน
 
ภาพถ่ายสีแรกๆของเขาทำให้ Saul Leiter ได้งานเป็นช่างภาพแฟชัน และอีกสองทศวรรษถัดมาเขาก็ได้สร้างสรรค์ผลงานให้กับนิตยสารชื่อดังหลายๆฉบับ เช่น Elle, Vogue, Nova ฯลฯ แม้ว่าเขาจะไม่เคยว่าง งาน แต่ Saul Leiter ก็ถือว่าเป็นช่างภาพแฟชันระดับรองลงมา ไม่ได้จัดว่าเป็นช่างภาพแฟชันเกรด A  อย่างที่ตัวเขาเองได้เล่าว่า "ผมรู้อยู่แล้วล่ะว่า คนที่จ้างผมอยากที่จะจ้างช่างภาพแถวหน้าอย่าง Avedon มากกว่า ... แล้วไงล่ะ ผมก็ยังมีงานทำ และยังได้ทำงานส่วนตัวของผมอยู่นี่"

  
 
ช่วงทศวรรษที่ 40 นิวยอร์คกำลังเป็นศูนย์กลางของกระบวนการสร้างสรรค์งานรูปแบบใหม่ (แต่ดั้งเดิม) นั่นคือ Street Photography ช่างภาพในนิวยอร์คหลายๆคนให้ความสนใจกับการถ่ายภาพข้างถนนกันยกใหญ่ การพัฒนาอย่างรวดเร็วของกล้อง 35mm เป็นตัวช่วยผลักดัน และกำหนดความเป็นไปของวัฒนธรรมการถ่ายภาพแนวนี้ การเผชิญหน้า และความก้าวร้าว คือสิ่งที่ทำให้ Street Photography ในนิวยอร์คแตกต่างจากที่อื่นๆ  วิธีการของ Saul Leiter แตกต่างออกไป เขาเลือกที่จะไม่เผชิญหน้าเหมือนอย่างช่างภาพ Street ในช่วงเวลาเดียวกับเขาทำ Leiter จะออกห่างจากสิ่งที่เขาถ่าย อยู่อย่างเงียบเชียบ และไม่เป็นที่สังเกต เรียกได้ว่า ขณะที่คนอื่นๆกระโดดขวางหน้าเพื่อจู่โจมเป้าหมาย Saul Leiter เลือกที่จะแอบซุ่มอยู่ข้างทางแล้วจัดการกับเป้าหมายราวกับพลซุ่มยิง
 
ลักษณะภาพถ่ายของเขาจะแสดงออกอย่างมีนัยยะ มีความเป็นนามธรรมที่ได้อธิพลมาจากศิลปะแนว Abstract Expressionism แตกต่างจากช่างภาพหลายๆคนในกลุ่ม New York School อย่าง Diane Arbus, Wee Gee, Robert Frank, Helen Levitt ที่มีความเข้มข้นในเนื้อหา เน้นภาพขาวดำ และมีความเป็นสารคดีค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามภาพถ่ายของ Leiter ก็ได้รับการสนใจอย่างมากจากช่างภาพหลายๆคน โดยเฉพาะ Edward Steichen ได้นำงานของเขาเข้ารวมในนิทรรศการภาพถ่ายสีที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) และเชิญให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Family of Man ที่รวมรวมผลงานของช่างภาพมากกว่า 200 คนจากทั่วโลก

  
 
Saul Leiter ปฏิเสธ Steichen เขาให้เหตุผลว่า "นิทรรศการนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพเท่าไหร่ แต่มีเรื่องอื่นๆค่อนข้างเยอะ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าคือเรื่องอะไร" Saul Leiter ไม่ได้แค่ไม่เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการครั้งนั้น แต่เขายังไม่เอาภาพถ่าย Street ของเขามาให้ใครดูอีก แม้ว่าเขาจะยังติดต่อกับช่างภาพในกลุ่ม New York School อยู่เหมือนกันเช่น Diane Arbus หรือ Robert Frank แต่ Saul Leiter ก็ไม่เคยนำงานมาแชร์ให้พวกเขาดู รวมถึงไม่พิมพ์งานของเขาออกมาอีกเลย
 
จวบจนกระทั่งปี 1990 Saul Leiter เริ่มพิมพ์งานของเขาอีกครั้งเนื่องจากเริ่มมีผู้คนรวมถึงนักวิจารณ์เริ่มสนใจงานของเขาด้วยเหตุที่ภาพถ่ายของเขาไม่อาจจำแนกและจัดกลุ่มเข้ากับศิลปะร่วมสมัยในช่วงปี 1940 - 1960 ได้อย่างแน่ชัด งานของ Saul Leiter มีความก้ำกึ่งระหว่างศิลปะ Abstract Expressionism  และ Classic Street Photography ของกลุ่ม New York School ซึ่งอาจอธิบายคร่าวๆได้ว่า ในขณะที่ช่างภาพคนอื่นจับจ้องที่ "คน" (Object) ตามท้องถนน แต่ Saul Leiter จับจ้องไปที่สิ่งที่คนนั้นๆ "เห็น" (Visual) แทน เขาใช้ภาพสี ที่ไม่ใช่เป็นภาพที่มีแค่สี แต่เขาใช้สีเป็นส่วนหลักในภาพที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาพของคนที่อยู่ในภาพถ่าย Street ทั่วไป

  
 
"ผมใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการถูกมองข้าม...ผมมีความสุขไปกับมันนะ การถูกเพิกเฉยเป็นเหมือนได้รับสิทธิพิเศษอะไรบางอย่าง" ถ้าเป็นคนอื่นๆพูดอาจถูกมองว่าไม่จริงใจ หรือพูดแก้เก้อสำหรับการถูกมองข้าม แต่สำหรับ Saul Leiter นับว่าเป็นช่างภาพไม่กี่คนที่เป็นเช่นนั้นจริงๆ การที่ไม่มีใครสนใจหรือถูกมองข้ามเป็นส่วนสำคัญต่อวิธีการทำงานของเขาริมท้องถนน รวมถึงวิธีการใช้ชีวิตอันสันโดษของเขาเอง 
 
และนับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา งานของเขาได้จัดแสดงเดี่ยวในนิทรรศการติดต่อกันเกือบทุกปีทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ และล่าสุดคือปีนี้ 2013 คือมีสารคดีเกี่ยวกับตัวเขาออกมาคือ In No Great Hurry - 13 Lessons in Life with Saul Leiter เข้าไปดูตัวอย่างได้ที่ Youtube 
 
และด้วยวัย 90 ปี Saul Leiter ก็ไม่ได้ถูกมองข้ามอีกต่อไป...

by Akkara Naktamna
© 2012 - 2025 Street Photo Thailand