สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์กับศิลปะภาพถ่าย
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ หน้าศิลปวัฒนธรรม ฉบับวันที่ 23 – 29 พฤษภาคม 2551
ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปอย่างไม่คาดคิดของคุณ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ (2473 – 2551) อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง, นักธุรกิจพันล้านผู้ขยายอาณาจักรโอสถสภาให้ยิ่งใหญ่, นักการศึกษาผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และในช่วงปลายของชีวิตได้ทุ่มเทลมหายใจให้กับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะภาพถ่ายอย่างจริงจัง
ผมมีโอกาสพบคุณสุรัตน์ครั้งแรกในงาน “กรุงเทพฯเลือนหาย” (Vanishing Bangkok) นิทรรศการภาพถ่ายจากหนังสือร่วมภาพเล่มหนาเล่มแรกของท่าน ซึ่งจัดที่หอศิลปแห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า เมื่อต้นมกราคม 2545 หรือหกปีก่อน เป็นการพบกันในฐานะที่ท่านมิใช่นักการเมืองหรือมหาเศรษฐี แต่เป็นศิลปินภาพถ่ายที่มีผลงานน่าสนใจ (ผมขอเรียกคุณสุรัตน์ว่า ‘ศิลปิน’ เพราะสร้างสรรค์งานจากแรงบันดาลใจของตนเอง มิใช่ ‘ช่างภาพ’ ที่มีผู้ว่าจ้างให้ถ่ายภาพ)
เมื่อนึกย้อนกลับไป(หรือแม้แต่ขณะนี้) ยอมรับว่าผมยัง “ทึ่ง” อย่างไม่เลือนหายในผลงานชุดกรุงเทพฯดังกล่าว ด้วยเหตุสำคัญคือ วัยของคุณสุรัตน์เมื่อเริ่มถ่ายภาพชุดกรุงเทพฯ ท่านมีอายุปาเข้าไปเจ็ดสิบแล้ว คนรุ่นนี้ส่วนใหญ่มักถ่ายภาพแบบเชยๆ เป็นภาพถ่ายแบบที่เราเรียกกันว่า “แนวประกวด” ของสมาคมหรือชมรมถ่ายภาพ แต่คุณสุรัตน์กลับไม่มีอิทธิพลของการถ่ายภาพแบบนี้อยู่เลยแม้แต่น้อย คุณสุรัตน์ถ่ายภาพอย่างอิสระ ไม่ติดกฏเกณฑ์การจัดองค์ประกอบภาพ เน้นความฉับไว แม่นยำในการกดชัตเตอร์กล้อง เพื่อให้ได้ “วินาทีแห่งการตัดสินใจ” (Decisive moment) ตามแบบฉบับของ อองรี คาเทียร์-เบรซ์ซอง (Henri Cartier-Bresson) ที่ท่านรับอิทธิพลนี้มาเป็นแนวทาง คุณสุรัตน์เน้นเนื้อหามากกว่ารูปแบบ ให้เนื้อหาคือรูปแบบ ตรงข้ามกับภาพถ่ายแนวประกวดอย่างสิ้นเชิง
พูดถึงเรื่องการถ่ายภาพแบบแนวประกวด คุณสุรัตน์เคยอธิบายว่ามันเป็น “สูตรสำเร็จ” ที่ถูกคิดขึ้นโดยสมาชิกของสมาคมภาพถ่ายในพระราชินูปถัมภ์ของอังกฤษในอดีต เพื่อให้เพื่อนสมาชิกของสมาคมสนุกกับการถ่ายภาพ (เรื่องนี้คงต้องทำการวิจัยกันต่อไปว่าถูกต้อง จริงเท็จแค่ไหน) และสูตรสำเร็จนี้ได้ส่งทอดต่อๆมาถึงสมาชิกสมาคมถ่ายภาพทั้งในและนอกเครือจักรภพ
ผมเดาเอาว่า ‘ภาพถ่ายแนวประกวด’ คือ สูตรสำเร็จทางสุนทรียภาพ ที่มีสูตรสำเร็จในการจัดการกับเนื้อหา (Content) และองค์ประกอบภาพ (Composition) เช่น ถ้าถ่ายภาพทิวทัศน์ทะเล ไม่ควรให้เส้นขอบฟ้าอยู่กึ่งกลางรูป เพราะจะทำให้ภาพถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่าๆกัน ดูน่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ ควรให้เส้นนี้อยู่สูงหรือต่ำไปเลย ด้วยวิธีการถ่ายภาพแบบนี้ทำให้ผู้ถ่ายภาพมองทิวทัศน์ทะเลด้วยสูตรความงามที่มีอยู่แล้วในใจ โดยละเลยที่จะเปิดรับเอาความงามที่เกิดขึ้นต่อหน้าผู้ถ่ายภาพ
เราจะพบว่า ไม่ว่าจะจัดการประกวดกี่สิบปี ผลงานที่ชนะการประกวดเมื่อเริ่มตั้งสมาคมถ่ายภาพปีที่หนึ่งจนถึงปีล่าสุด ผลงานที่ได้จึงไม่มีความแตกต่างไปเลย แม้เทคโนโลยีการถ่ายภาพจะพัฒนาจากยุคฟิล์มสู่ยุคดิจิตัลก็ตาม
ประเด็นที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ภาพแนวประกวดไม่สามารถสะท้อนโลกและสังคมที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ทำให้ผลงานของสมาชิกของสมาคมภาพถ่าย (เกือบทุกสมาคม และอาจจะเกือบทุกแห่งในโลก) ไม่น่าสนใจ ไม่ร่วมสมัย หลุดกระเด็นออกไปจากบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นั่นจึงเป็นเหตุให้ภาพถ่ายแนวสมาคมถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอว่า “เชย”
เมื่อคุณสุรัตน์ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผลงานชุด “กรุงเทพเลือนหาย” อีกทั้งการได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศอีกมากมาย ทำให้ท่านมั่นใจมากขึ้นกับแนวทางที่ตนเองกำลังเดินอยู่ ความสำเร็จรวดเร็วเช่นนี้ทำให้มีการทาบทามให้คุณสุรัตน์ไปเป็นนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งอยู่ในจุดตกต่ำ เหลือเงินทุนดำเนินงานไม่กี่หมื่นบาท คุณสุรัตน์พูดเรื่องนี้ให้ผมฟังว่าท่านจะเข้าไปบริหารสมาคมเพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนาวงการภาพถ่ายไทยให้ก้าวหน้า ซึ่งท่านเชื่อมั่นว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้
เวลานั้นเองผมเห็นค้าน ผมเรียนคุณสุรัตน์ตรงๆว่า “ทำไมคุณอาไม่ทำของตนเอง ตั้งเป็นสถาบันภาพถ่ายร่วมสมัย มันจะง่ายกว่าครับ” อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมคิดว่าการเปลี่ยนสมาคมนี้ไม่มีทางสำเร็จก็เพราะ สมาชิกส่วนใหญ่เขาไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เขาพึงพอใจกับวิธีการที่ใช้กันอยู่ ส่วนใหญ่คนเหล่านี้ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก ไม่ใช่อาชีพ ถ่ายภาพเพื่อผ่อนคลาย เพื่อความเพลิดเพลิน ไม่ได้คิดจะเอาจริงเอาจังอะไร ไม่ได้คิดจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆในทางศิลปะภาพถ่าย นอกไปจากเรื่องของกล้องและเทคนิคการถ่ายภาพ นั่นคือเหตุผลว่าการถ่ายภาพแบบแนวประกวดจึงยังนิยมปฏิบัติกันอยู่ในหมู่สมาชิกของสมาคมแม้ว่ามันจะเชยก็ตาม
เมื่อคุณสุรัตน์เข้าไปทำงานสมาคมภาพถ่ายฯใหม่ๆ ท่านก็ต้องเผชิญกับอคติของคนที่อยู่ก่อน มีการนินทาว่าร้ายลับหลังตามนิสัยของคนไทยขี้อิจฉา หาว่าจะมาเอาสมาคมไปสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง คุณสุรัตน์ไม่หวั่นไหวยังคงเดินหน้าตามเจตนารมณ์ที่ตนเองตั้งเอาไว้ โดยไม่ฟังเสียงนกเสียงกา
หลายปีที่คุณสุรัตน์หมดกับการดำเนินงานของสมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย แม้ท่านจะนำชื่อเสียงและเงินทุนมาสู่สมาคมก็ตาม แต่คุณสุรัตน์ก็เดินทางมาสู่จุดที่ต้องยอมรับกับตัวเองว่า “เหนื่อยเปล่า” เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความเข้าใจต่อศิลปะภาพถ่ายของกรรมการและสมาชิกของสมาคมส่วนใหญ่ได้ ทั้งๆที่คนเหล่านั้นเด็กกว่าหนุ่มสาวกว่าแต่กลับไม่เข้าใจสิ่งที่ท่านพยายามทำ เหล่านี้ทำให้ท่านท้อ แต่ไม่ถอย คุณสุรัตน์ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่โดยจัดตั้ง ‘มูลนิธิภาพถ่ายแห่งประเทศไทย’ ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรขับเคลื่อนพลักดันกิจกรรมของวงการภาพถ่ายไทยแทนการใช้สมาคมเช่นที่ผ่านมา (แต่นี่ก็ดูเหมือนจะสายเกินไปเสียแล้ว)
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณสุรัตน์สะสมทุนไว้เยอะก่อนจะเข้ามาสู่วงการศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นทุนทางทรัพย์สิน ทุนทางการเมือง(เส้นสายนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ) ทุนทางสังคม (ชื่อเสียง การยอมรับนับถือ) ประกอบกับโดยส่วนตัวคุณสุรัตน์เป็นคนใจกว้าง มองไกล เป็นเพื่อนกับคนในหลากหลายกลุ่ม และหลากหลายอุดมการณ์ความเชื่อทางการเมือง ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นิยมหรือต่อต้านเจ้า, ไม่ว่าคุณจะบูชาทุนนิยมหรือคอมมิวนิสต์ คุณสุรัตน์ยอมรับในความแตกต่างและไม่นำเอาความแตกต่างนั้นมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาส่งเสริมวงการศิลปะภาพถ่ายของไทย เพื่อให้พัฒนาเท่าทันวงการภาพถ่ายสากล เพราะคุณสุรัตน์เชื่อว่าเราจะพัฒนาได้ “ต้องร่วมมือกัน ขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน”
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้คุณสุรัตน์กลายเป็นศูนย์กลางของวงการถ่ายภาพไทยไปโดยธรรมชาติและโดยปริยาย ดังนั้นเมื่อมีโครงการใหญ่ๆ เช่นการจัดทำหนังสือ 9 days in the Kingdom by 55 photographers (เก้าวันในราชอาณาจักรโดยห้าสิบห้าช่างภาพ) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนม์พรรษาครบ 80 ปี และเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย โดยงานนี้มีการเชิญช่างภาพชื่อดังจากทั่วโลก 45 คน และช่างภาพไทย 10 คน คุณสุรัตน์ได้รับเชิญให้ประธานคณะบรรณาธิการที่ปรึกษา เพื่อต้องการให้ช่างภาพทั้งไทยและเทศผุ้มีชื่อเสียงทั้งหลายยอมรับเข้าร่วมโครงการนี้
หนังสือเล่มนี้ คุณสุรัตน์ได้ฝากผลงานให้ช่างภาพด้วยกันต้อง “ทึ่ง” และ “อึ่ง” กับภาพถ่ายชุดหางเครื่องวงลูกทุ่ง “นกน้อยอุไรพร” คุณสุรัตน์สามารถจับเอาบรรยากาศความยิ่งใหญ่อลังการ ความระยิบระยับแวววาวของเครื่องแต่งตัวเอาไว้ได้หมด เราได้ยินเสียงโห่ร้องดีใจสุดๆในภาพแฟนเพลงหนุ่มขณะจับมือนักร้องสาว และภาพขาอ่อนหางเครื่องที่ดูสุดเซ็กซี่ บาดใจ ทั้งๆที่เธอสวมใส่ชุดเต้นรัดรูปมิใช่ขาอ่อนที่เปลือยเปล่า แต่ด้วยมุมกล้อง, แสงไฟจับช่วงขา และจังหวะท่าเต้น ซึ่งคุณสุรัตน์กดชัตเตอร์ไว้ได้อย่างแม่นยำ ทำให้ใครๆที่เห็นภาพนี้ต้องใจระทึก
อดคิดถึงคุณ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ไม่ลืม.
|