Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
Robert Doisneau ความงดงามของเรื่องธรรมดาสามัญ
Posted by Akkara Naktamna - Dec 13, 2013 20:27
ในขณะที่ อองรี คาร์ติเย -เบรซง (HCB) ช่างภาพชาวฝรั่งเศสกำลังมีชื่อเสียงขจรขจายในต่างประเทศในฐานะช่างภาพสตรีทคนสำคัญแห่งยุค แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส กลับจดจำช่างภาพสตรีทอีกคนหนึ่งมากกว่า HCB ช่างภาพคนนี้ถ่ายทอดภาพริมท้องถนนของกรุงปารีสออกมาได้อย่างมีเสน่ห์ โรแมนติกเจือไปด้วยอารมณ์ขัน จนกล่าวได้ว่าภาพถ่ายของเขาเป็นตัวแทนของการใช้ชีวิตประจำวันของคนปารีสเสมอมา เขาคนนั้นคือ Robert Diosneau (โรแบร์ ดัวส์โน : 1912 - 1994) 
 
ดัวส์โนเกิดมื่อวันที 14 เมษายน 1912 (พ.ศ. 2455) ในย่านที่เรียกว่า Gentilly ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกช่างฝีมือ ค่อนลงมาทางใต้ของกรุงปารีส พอดัวส์โนอายุได้ 13 ปี เขาได้ไปสมัครเรียนการพิมพ์ภาพหิน (Lithography : เทคนิคการพิมพ์ภาพจำนวนมาก) ที่ Ecole Estienne ซึ่งแม้ว่าเขาจะไม่ค่อยชื่นชอบเท่าใดนัก แต่การเรียนครั้งนี้เหมือนเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางศิลปะให้กับดัวส์โน ต่อมาเขาได้เข้าไปทำงานที่กราฟิคสตูดิโอที่ชื่อ Atelier Ullmann ที่นี่เขาได้จับกล้องและหัดถ่ายภาพเป็นครั้งแรก หลังจากลาออกจากสตูดิโอแล้ว ดัวส์โนไปเป็นผู้ช่วยช่างภาพที่ชื่อ Andre Vigneau แล้วเขาก็ได้ค้นพบว่า งานที่ทำให้เขามีความสุขมากที่สุดนั่นคือ การได้เป็นช่างภาพนั่นเอง


 
ดัวส์โนซื้อกล้องตัวเล็กๆมาตัวหนึ่งแล้วเริ่มเดินถ่ายภาพตามท้องถนน ความกระฉับกระเฉงและอารมณ์ขันที่ล่องลอยไปในทุกๆที่ของมหานครปารีส สิ่งเหล่านี้เองที่มีอธิพลต่อรูปแบบการทำงานของดัวส์โนตลอด 6 ทศวรรษถัดมา ภาพถ่ายของดัวส์โนจะแสดงถึงสิ่งที่สามารถสัมผัสได้รอบตัวๆ ไม่เน้นการตัดสินใจในเสี้ยววินาที (Decisive Moment) หรือการใช้เลขาคณิตในภาพ (Geometry) แบบที่ HCB ทำ แต่ดัวส์โนแสดงให้เราเห็นถึง "ความงดงามของเรื่องธรรมดาสามัญ" ก็มีพลังไม่น้อยไปกว่าความงดงามในแง่มุมอื่นๆ
 
ปี 1934 เขาทำงานเป็นช่างภาพงานโฆษณาที่บริษัทผลิตรถยนต์เรอโนลต์ ที่นั่นมีสหภาพแรงงานที่มีพลังและจัดกิจกรรมเพื่อสิทธิประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน ดัวส์โนเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับสหภาพด้วย ในบทสัมภาษณ์เมื่อปี 1991 ดัวส์โนเล่าว่าในช่วงปีเหล่านั้นเป็นเหมือน "จุดเริ่มต้นของชีวิตช่างภาพ และจุดสิ้นสุดของชีวิตวัยรุ่น" แต่ถึงแม้เขาจะรู้สึกตื่นเต้นกับกิจกรรมการเมืองที่เรโนลต์ รวมถึงยังได้แรงบันบาลใจในการถ่ายภาพมากมาย แต่งานประจำทำให้เขาเริ่มเบื่อหน่ายเนื่องจากกฏข้อบังคับที่เข้มงวด กดดัน รวมถึงความไม่เป็นธรรม ทำให้เขาเริ่มมองหาลู่ทางในการเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ขณะเดียวกันดัวส์โนขาดงานบ่อยอาจเพราะการเข้าร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหวของทางสหภาพ และออกไปถ่ายภาพส่วนตัวอยู่บ่อยๆ ทำให้บริษัทเรโนลต์ยื่นข้อเสนอให้เขาลาออก เขารับข้อเสนอนั้นและเริ่มต้นชีวิตช่างภาพอิสระอย่างเต็มตัว

 
ปี 1939 ดัวส์โนรับงานที่ Agency ภาพถ่าย Rapho และเริ่มเดินทางไปทั่วฝรั่งเศสเพื่อเสาะหาเรื่องราวต่างๆ ไม่นานนักสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้น ปี 1940 ฝรั่งเศสถูกยึดครองโดยกองกำลังนาซี ทำให้การทำงานเป็นช่างภาพของดัวส์โนต้องหยุดชะงักไป แต่เขาก็ไม่ยอมอยู่เฉย เขาทำชุดโปสการ์ดของนโปเลียนออกมาขาย ถ่ายภาพการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ กระทั่งทำเอกสารปลอมให้กับกองกำลังใต้ดินต่อต้านนาซี เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ช่างภาพในยุคเดียวกับเขาออกเดินทางไปสร้างงานในต่างประเทศ แต่ดัวส์โนยังคงอยู่ถ่ายภาพชีวิตของผู้คนที่ฝรั่งเศส ไม่ออกไปขุดทองเหมือนกับช่างภาพคนอื่นๆ ต่อมาดัวส์โนเข้าร่วมกับ Alliance-Photo Agency และร่วมงานกับแมกกาซีนภาพถ่ายหลายฉบับที่กำลังเฟื่องฟูช่วงหลังสงคราม ดัวส์โนได้รู้จักกับบรรณาธิการฝ่ายซ้าย Pierre Courtade และนักเขียน Blaise Cendrars ทั้งคู่กระตุ้นให้เขาถ่ายภาพแนวสตรีทออกมาเรื่อยๆ ในการร่วมงานกับ Cendrars ทำให้ได้ออกหนังสือภาพถ่ายออกมาหนึ่งเล่มคือ La Banlieue de Paris (1949) ซึ่งถือเป็นหลักไมล์สำคัญในการถ่ายภาพของดัวส์โน 

 
 
ช่วงปี 1949 ดัวส์โนได้รับการติดต่อจากบรรณาธิการ Vogue ให้ทำงานเป็นช่างภาพแฟชันให้กับนิตยสาร แม้ว่าทางบรรณาธิการของ Vogue เองจะมีความเชื่อมั่นว่าดัวส์โนจะต้องสร้างความสดใหม่ให้กับภาพแฟชันของนิตยสารได้ แต่ดัวส์โนเองรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่ต้องถ่ายภาพสวยๆงามๆในสตูดิโอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเขาเลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อวันใดที่เขาได้ออกมาถ่ายแบบริมท้องถนน ดัวส์โนจะมีพลังในการทำงานขึ้นมาอย่างผิดหูผิดตา ช่วงกลางทศวรรษที่ 40 ดัวส์โนกลับไปร่วมงานกับ Rapho Agency อีกครั้ง เขารับงานกว้างมากขึ้นทำให้ดัวส์โนได้เดินทางไปถ่ายภาพทั่วฝรั่งเศส เขาขายงานชุดภาพถ่ายให้กับต่างประเทศ ที่สำคัญๆคือขายให้กับนิตยสาร Life ของอเมริกา ชื่อของดัวส์โนเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเมื่อเข้าร่วมแสดงภาพถ่ายที่ the Museum of Modern Art (MoMA) ที่กรุงนิวยอร์กในปี 1951 โดยจัดแสดงร่วมกับช่างภาพอย่าง Brassai, Willy Ronis และ Izis
 
หากทศวรรษที่ 50 คือยุคทองของดัวส์โน ทศวรรษที่ 60 คือช่วงชีวิตที่แสนจะเงียบเหงาซบเซา ความเบื่อหน่ายในภาพถ่ายมนุษยนิยมแบบเก่าๆ ที่เน้นความเรียบหรู ดูดีมีระดับไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป โลกของการรายงานข่าวกำลังเปลี่ยนไป เหล่าบรรณาธิการหันไปหาภาพถ่ายที่แสดงถึงความดิบ การรายงานอย่างตรงไปตรงมา ทำให้นิตยสารภาพถ่ายสมัยเก่าค่อยๆปิดตัวลงไปทีละฉบับๆ สื่อสมัยใหม่อย่างโทรทัศน์ก็กำลังสยายปีกครอบคลุมการรับรู้ข่าวสารของคนในสังคมทีละน้อยๆเช่นกัน แต่ดัวส์โนก็ยังทำงานต่อไปโดยหันไปทำหนังสือสำหรับเด็ก และกลับไปถ่ายภาพโฆษณา รวมทั้งถ่ายภาพเหล่าคนดังในแวดวงดารา



ก่อนจะเข้ายุค 70 วงการภาพถ่ายระดับนานาชาติกลับมาให้การสนใจกับภาพถ่ายของดัวส์โน ผู้ชมงานรุุ่นใหม่ชื่นชอบการถ่ายทอดความไร้เดียงสา นัยยะที่แฝงเอาไว้ด้วยอารมณ์โรแมนติกแบบชาวฝรั่งเศส รวมทั้งอารมณ์ขันเชิงเหน็บแนมที่เขาซุกซ่อนเอาไว้ในภาพ เมื่อปี 1990 ดัวส์โนเดินทางมาแสดงภาพถ่ายที่ Hamilton's Gallery ประเทศอังกฤษ และได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ BBC นอกจากนั้นปี 1992 มหาวิทยาลัย Oxford ก็จัดแสดงภาพถ่ายของเขาอีกด้วย

ช่วงหน้าร้อนปี 1993 ขณะที่ภาพถ่ายดัวส์โนกำลังได้รับความนิยม มีคู่สามีภรรยาชาวฝรั่งเศสคู่หนึ่ง Jean-Louis และ Denise Lavergne ยืนยันว่าพวกเขาคือคู่รักหนุ่มสาวที่กำลังจุมพิตกันอย่างดูดดื่มในภาพถ่ายอันโด่งดังของ โรแบร์ ดัวส์โน "The Kiss" และได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากภาพถ่ายอันโด่งดังชิ้นนี้ ซึ่งในขณะที่กำลังฟ้องร้องกันอยู่นั้น รายได้ของภาพ The Kiss มีมากกว่า 50,000 ปอนด์ นี่ยังไม่ได้นับรวม ค่าธรรมเนียมจากการเอาไปทำเป็นโปสเตอร์ โปสการ์ด หรือกระทั่งจิ๊กซอว์ ในที่สุดจากคดีความนี้ทำให้ดัวส์โนเปิดเผยว่าภาพถ่าย The Kiss นั้นเกิดจากการ "จัดฉาก" โดยที่ทั่งคู่เป็นนักแสดงที่ถูกจ้างให้มาเป็นแบบภายใต้การควบคุมของตัวดัวส์โนเอง 
 
เหล่าผู้ชมภาพต่างผิดหวังที่ได้รู้ว่า The Kiss ไม่ได้เกิดจากภาพบนท้องถนนในปารีสจริงๆ แต่ถึงอย่างไรภาพ The Kiss ก็เป็นเหมือนดั่งภาพฉายแห่งมหานครปารีสที่อบอวลไปด้วยความโรแมนติกไปเรียบร้อยแล้ว และหลายคนไม่สนใจว่าภาพนี้จะเป็นภาพที่ "จัดฉาก" หรือ "ไม่จัดฉาก" แค่ภาพมันสามารถบรรยายหรือเป็นตัวแทนของสิ่งที่เราอยากให้เป็นเท่านั้นก็เพียงพอ  "ข้อเท็จจริง" เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของภาพถ่ายของดัวส์โน ที่ไม่อาจสามารถทำลายและลบล้างมนต์เสน่ห์ของภาพถ่ายของเขาได้
 
"My photographs show the world as I would like it to be."  Robert Doisneau 1986

by Akkara Naktamna
© 2012 - 2025 Street Photo Thailand