Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
Shutter Lag กับการถ่ายภาพสตรีท และสิ่งที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับ Shutter lag
Posted by Sarawut Taeosot - Feb 20, 2014 06:53
หากพูดถึงองค์ประกอบที่สำคัญอันดับต้นๆ ของการถ่ายภาพ โดยเฉพาะภาพถ่ายแนว street น่าจะต้องมีคำว่า "จังหวะ" เอ่ยขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ แน่ๆ "...ถ้าเราพลาดเสี้ยววินาทีแห่ง Decisive Moment ไป มันก็จะหายไปตลอดกาล..." Henri Cartier-Bresson เคยกล่าวไว้ ในหลายครั้ง "จังหวะ" เป็นตัวสร้างพลัง ความสมบูรณ์ให้กับภาพ ลองนึกถึงการถ่ายภาพธงที่กำลังปลิวไสวลู่ลมสิครับ ภาพไหนจะมีอิมแพ็คมากกว่ากันระหว่าง ภาพธงที่คลี่กางผืนธงเต็มที่ กับ ภาพธงในจังหวะเหี่ยวๆ

พอพูดถึงเรื่อง "จังหวะ" ทำให้ผมนึกถึงช่วงนี้ที่ผมรู้สึกหงุดหงิดกับกล้องตัวปัจจุบัน ตัวเดียวกับที่เห่อแสนเห่อตอนที่ได้มันมาใหม่ๆในราคามือหนึ่งแสนถูก ถูกที่สุดเท่าที่มันจะตั้งราคาได้ ณ ตอนนั้น ปัญหาสำคัญที่ทำให้ผมหงุดหงิดบ่อยๆ คือมันทำให้ผมพลาด"จังหวะ"ได้ภาพดีๆไปหลายต่อหลายครั้ง (เข้าใจเลยครับ คำว่าหายไปตลอดกาลเป็นยังไง...) หรือในบางสถานะการณ์มันทำให้ผมต้องใช้เวลามาขึ้นเพื่อได้ภาพแบบที่อยากได้ ปัญหานี้คือ "shutter lag" ครับ
 
ตัวอย่างที่ ๑

อย่างภาพตัวอย่างที่ ๑ นี้ ผมพอมีภาพในหัวแล้วหลังจากเจอกระจก แต่เรียกว่ายืนรอ และถ่ายไปหลายชอตมากว่าจะได้ภาพนี้ที่เกือบสมบูรณ์ ส่วนประกอบหลักๆของภาพที่อยากได้มีอยู่ ๒ อย่างครับ คือ ๑) ตัวแบบควรจะต้องมีจังหวะการแกว่งแขนและก้าวขาที่กว้าง ซึ่งมีแนวโน้นว่าแบบน่าจะต้องเดินมาด้วยความเร็ว ๒) ส่วนหน้าของตัวแบบควรจะถูกระจกบังจนหมด ซึ่งในบริเวณนั้นคนไม่พลุกพล่านเท่าไร เรียกว่าแทบไม่มีจะดีกว่า พอจะหาคนเดินผ่านแบบพอมีแอคชั่นได้เพียงไม่กี่คน แต่ที่ยากกว่าคือการจับจังหวะให้คนถูกกระจกบังในจังหวะที่พอเหมาะครับเพราะผมต้องกดชัตเตอร์ล่วงหน้าตอนที่แบบอยู่ในระยะห่างประมาณ 30-50 ซม. จากจุดที่ต้องการ การควบคุมให้ได้ภาพที่ต้องการยากมากทีเดียว บางครั้งทุกอย่างโอเค แต่ดันได้จังหวะคนหุบขาซะงั้น หลังจากเหตุการณ์นี้ ผมเลยเริ่มคิดที่จะหากล้องใหม่ที่ shutter lag น้อยกว่านี้

พอเริ่มหาข้อมูลก็เจอข้อมูลการทดลอง shutter lag จากเว็ป www.imaging-resource.com ซึ่งมีค่าเวลา shutter lag อย่างละเอียด ตั้งแต่ การ lag จากการใช้โหมดออโต้โฟกัสจุดกลาง โหมดออโต้โฟกัสแบบทั้งภาพ เรื่อยไป จนถึงโหมด manual focus จากการดูข้อมูลอย่างคราวๆ ผมสังเกตเห็นข้อมูลสองอย่างที่ขัดกับความเข้าใจที่มีอย่างมาก คือ ๑)  Shutter lag จาก manual focus จะนานกว่า shutter lag จาก การกดพรีโฟกัสไว้ก่อน แม้ว่าจะปรับค่าชัตเตอร์สปีดและรูรับแสงไว้ก่อนแล้วก็ตาม (ในกล้องบางรุ่นมันต่างกับแบบมีนัยยะมากๆด้วยครับ) ซึ่งแต่เดิมผมเข้าใจว่ามันน่าจะเท่ากันมาตลอด ๒) แท้จริงแล้ว Shutter lag ของการกดพรีโฟกัสไว้ก่อนของกล้อง mirrorless หลายๆตัว มันพอๆกับกล้อง DSLR หรือ ดีกว่าด้วยซ้ำ เจอสองข้อนี่เข้าไป แผนการซื้อกล้องใหม่แทบจะโดนพับเก็บเลยทีเดียว

ด้วยความไม่เชื่อ เลยขอลบหลู่สักหน่อย หลังจากปิดคอมผมหยิบกล้องตัวเก่งมาปรับเป็น Manual focus แล้วกดๆๆๆ ลองสังเกตดู แอบสังเกตเห็นการดีเลย์ของการลั่นชัตเตอร์นิดหน่อย หลังจากนั้นผมเริ่มการทดลองที่ ๒ โดยยังคงโหมดเดิม แต่กดปุ่มชัตเตอร์แค่ครึ่งเดียวก่อน แล้วค่อยกดลั่นชัตเตอร์ ผลคือได้ยินเสียงชัตเตอร์ทันทีที่กด อืมม มันอาจจะเป็นจริงตามที่เขาทดลอง แต่ก็ยังไม่เชื่อสุดใจ ลองเปิดมือถือหาข้อมูลอีกนิดหน่อยพอจับใจความได้ว่า การกดปุ่มชัตเตอร์ทันทีนั้นจะเสียเวลามากกว่าเพราะต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการคำนวณค่ารูรับแสงและการเตรียมกลไกสำหรับลั่นชัตเตอร์ ในขณะที่ถ้าเรากดปุ่มไว้ครึ่งหนึ่งก่อนลั่นไกจริง ภาระงานทั้งสองก็เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงภาระในการลั่นชัตเตอร์อย่างเดียว
สรุปภาระการทำงานของการกดชัตเตอร์

ครับสิ่งที่ผมลืมคิดถึงน่าจะเป็นการเตรียมระบบลั่นไกของกล้อง เพราะผมเข้าใจผิดมาตลอดว่าถ้าใช้โหมด M ตั้งค่าสปีดและรูรับแสงเอง พร้อมทั้งตั้ง Manual focus ไว้ shutter lag จะเท่ากับการกดปุ่มชัตเตอร์ครึ่งหนึ่ง ก่อนยิงจริง ซึ่งผิด!!

หลังจากได้ความรู้ใหม่ก็ร้อนวิชาครับ วันรุ่งขึ้นออกไปทำลองทันที ใช้โหมด M พร้อม Manual focus พร้อมกดปุ่มชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งก่อน ผลที่ได้ก็ยังเหมือนจะดีเลย์ครับ เลยตั้งสมมติฐานใหม่ว่าอาจจะต้องเป็นโหมดออโต้โฟก้ส แล้วกดพรีโฟกัสเท่านั้นถึงจะเร็วที่สุด แต่ผลก็ออกมาเหมือนกันคือดีเลย์ เลยคิดต่อไป ตั้งสมมติฐานต่อว่า หรือเป็นเพราะเรามองจากจอ จอมันดีเลย์ ทีนี้เลยถ่ายแบบไม่มองจอภาพ ปรากฎว่า โอเคเลยครับจังหวะที่กดแทบจะเป็นจังหวะเดียวกับที่เห็น แต่... องค์ประกอบมันไม่ได้นะครับ ฮาๆ

อ้อ ลืมบอกไปวิธีการทดลองของผมคือเล็งขาขาว แต่ช่วงนี้หนาวส่วนใหญ่จะเจอแต่กางเกงดำๆ ฮา คือกดชัตเตอร์ตอนจังหวะที่คนก้าวขากว้างสุดน่ะครับ ถ้าภาพที่ได้ดันเป็นภาพหุบขาหรือขางอๆ ก็แสดงว่าอาจจะดีเลย์ ก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ละครับ ได้ภาพขาสาวๆมาเต็มเบย ๕๕
 
เล็งที่จังหวะกางขา ถ้าได้ภาพกางขาเป็นอันโอเค

นั้นคือได้ข้อสรุปอีกหนึ่งข้อว่า ข้อมูลจาก image resource น่าจะเป็น shutter lag ที่วัดตั้งแต่การกดชัตเตอร์จนชัตเตอร์ลั่น ในขณะที่การใช้งานจริง shutter lag น่าจะเริ่มวัดตั้งแต่จังหวะที่ภาพเกิดขึ้นจริง --> ตาเห็นภาพที่จากวิวไฟเดอร์ หรือ LCD หลังกล้อง --> นิ้วลั่นลั่นชัตเตอร์ เรื่อยๆ ไป จนไปจบที่ชัตเตอร์ลั่น ซึ่งถ้าเป็นในกรณีของ optical viewfinder ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในกรณีของ live view อาจมีการดีเลย์บ้างโดยเฉพาะในกล้องรุ่นเก่าๆ นั้นก็คือสิ่งที่เราเห็นในจออาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ต่อให้ประสาทไวขนาดไหน ก็คงไม่สามารถกดเก็บภาพที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ (ลองดูภาพที่ ๔ และ ๕ ประกอบน่าจะเข้าใจได้ดีขึ้นครับ)อย่างไรก็ตามกล้องรุ่นใหม่ๆอาจมีการตอบสนองของ live view ที่ไวขึ้นจนแทบไม่เห็นผลก็เป็นได้ครับ บังเอิญกล้องผมเก่า ฮา
 
รูปที่ ๔ การมองจากออปติคัลวิวไฟเดอร์
 
รูปที่ ๕ การมองจาก live view
 

หลังจากจบสิ้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ ผมได้ลิสต์คุณสมบัติของกล้องใหม่อีกหนึ่งข้อ  คือมันควรมี optical viewfinder ส่วนคุณสมบัติที่จะยังคงอยู่ตลอดกาลก็คือ มันต้องถูกครับ และสำหรับในช่วงที่ยังไม่มีกล้องใหม่ ผมก็ฝึกกดปุ่มชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งทุกครั้งก่อนลั่นจริงครับ
 
 
© 2012 - 2025 Street Photo Thailand